• @TOM NEWS
  • May-Jun 2022

แสงสว่างมาแล้ว ส่องนโยบายเพื่อ LGBTQ+ ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่

By : Ruta
ก่อนอื่นก็คงต้องกล่าวแสดงความยินดีกับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ที่ได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายทุบสถิติใหม่ให้กับชาวกรุงเทพฯ แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเรา ไม่ใช่แค่เรื่องความแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี หรือคะแนนเสียงต่างๆ ทว่าเป็นสิ่งที่ผู้ว่าฯ คนใหม่ได้ให้สัญญาไว้กับนโยบายต่างๆ ที่โอบรับความหลากหลายในทุกมิติ รวมถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศด้วย ดังนั้น เราจึงขอรวบรวมนโยบายส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชาว LGBTQ+ ซึ่งทีมชัชชาติได้ชูไว้ตอนหาเสียงมาจดบันทึกไว้ พร้อมกับความหวังว่า แสงสว่างอันงดงามนี้จะเปล่งประกายให้เห็นในไม่ช้า บนพื้นที่มหานครของประเทศไทย

เริ่มที่นโยบาย “12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ” ด้วยแนวความคิดต้องการสร้างงานสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ ผลักดันการสร้างสรรค์ออกแบบชุมชน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จึงได้มีนโยบายจัดเทศกาลสำคัญตลอดทั้งปี โดยหนึ่งในตัวอย่างเทศกาลที่ผู้ว่าฯ เสนอไว้ก็คือ Pride Month (เดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ) ในเดือนมิถุนายน ซึ่งกลายเป็นความหวังของชาว LGBTQ+ ว่า หากมีเทศกาลนี้เกิดขึ้นจริง โดยการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างกรุงเทพมหานคร กิจกรรมที่พวกเราคาดหวังกันมานานน่าจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้เสียที

นโยบาย “หน่วยงาน กทม.เข้าใจ สนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศ” ด้วยความเชื่อว่าการยอมรับความหลากหลายทางเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศในสังคมไทยยังคงมีเงื่อนไข ในฐานะหน่วยงานรัฐของประชาชนและนายจ้างของข้าราชการ กทม. การยอมรับและเข้าใจถึงความหลากหลายเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับภาครัฐไทยให้ทัดเทียมกับภาคเอกชนหรือเครือข่ายต่างๆ นอกจากเรื่องความหลากหลายทางเพศวิถีแล้วยังมีเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่หน่วยงานกทม. ต้องให้ความสำคัญอีกด้วย พร้อมกันนี้ ผู้ว่าฯ ได้ระบุสิ่งที่สามารถริเริ่มทำได้ทันที ได้แก่

1. กำหนดหลักธรรมาภิบาลของหน่วยงานใน กทม. ให้การยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขในสังคมและสนับสนุนความเท่าเทียม
2. อบรมให้เจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของ กทม.ปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยเฉพาะผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม เน้นการยอมรับและความเข้าใจ
3. สามารถร้องทุกข์เรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมได้
4. สนับสนุนการแสดงออกที่หลากหลาย โดยไม่บังคับแต่งชุดเครื่องแบบข้าราชการตามเพศกำเนิด สามารถใส่ตามที่สะดวกใจได้
5. มีกฎเพื่อป้องกันการคุกคามทางเพศในหน่วยงานกทม.

และนโยบายสุดท้ายที่สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากก็คือ “นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย” เนื่องจากคลินิกสาธารณสุขเฉพาะทางด้านสุขภาพของกลุ่ม LGBTQI+ ในโรงพยาบาลของรัฐมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือคลินิกสุขภาพเพศของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมกันนี้ยังมีการค้นข้อมูลพบว่า การให้บริการทางการแพทย์กับกลุ่ม LGBTQI+ ยังขาดความรู้และความเข้าใจในประเด็นอ่อนไหว ระบบการรับบริการด้านสุขภาพยังคงไม่เป็นมิตรกับคนข้ามเพศ บุคลากรทางการแพทย์บางส่วนยังคงขาดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางเพศ รวมถึงยังมีอคติทางเพศที่ส่งผลต่อการวินิจฉัยโรค เป็นต้น

ประเด็นเหล่านี้ส่งผลกับประสบการณ์ในการเข้ารับบริการของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น เมื่อกลุ่มคนข้ามเพศต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็จะไม่ถูกส่งไปรวมห้องกับเพศปัจจุบันของตนเอง ดังนั้น กทม.จะนำร่องเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาทางการแพทย์ในประเด็นจำเพาะ เช่น การใช้ยา-ฮอร์โมน และการผ่าตัดแปลงเพศของกลุ่มคนข้ามเพศในศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) หรือโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ตามความเหมาะสม เพื่อสร้างสวัสดิการของรัฐที่ครอบคลุมความหลากหลายของมนุษย์

นโยบายต่างๆ เหล่านี้อาจจะยังต้องนำไปพัฒนาปรับปรุง และใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง หรือเป็นจริงได้ แต่แค่ภาครัฐมองเห็นปัญหา ให้ความสำคัญ และพร้อมลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อพวกเรา เท่านั้นก็ทำให้พวกเรามีความหวังว่ากรุงเทพฯ และประเทศไทยของเราจะดีขึ้นได้จริงๆ สักที