• @TOM NEWS
  • Jul 2021

Dance of the Forty One แด่คืนวันที่ LGBTQ คือสิ่งผิดบาปในเม็กซิโก

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
[ระวัง SPOIL มีการเปิดเผยประเด็นสำคัญของหนัง]

ตอนแรกคิดว่าเป็นหนังที่หยิบเอาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาเป็นฉากหลังแล้วเสริมเรื่องเติมแต่งตัวละครพระเอกอย่าง Ignacio เข้าไป พอไปค้นข้อมูลดู อ้าว Ignacio มีตัวตนอยู่จริง เป็นลูกเขยของประธานาธิบดีเม็กซิโกจริง และมีข่าวลือเรื่องรสนิยมทางเพศ หรือการที่เค้าเข้าไปพัวพันกับคดีประวัติศาสตร์ของชาว LGBTQ+ ในเม็กซิโกนี้อยู่จริงๆ ด้วย แต่ก็นั่นแหละในรายละเอียดของตัวบท แรงขับเคลื่อนของตัวละคร และตัวละครเสริมต่างๆ มันต้องสร้างเพิ่มเข้าไปจากจินตนาการของคนเขียนบทอยู่แล้ว

นี่คือเรื่องราวของ Ignacio ชายหนุ่มผู้ทะเยอทะยาน ที่เพิ่งแต่งงานกับภรรยาสาวสวย พร้อมกับก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งลูกเขยของท่านประธานาธิบดีแห่งเม็กซิโกในช่วงปี 1880 (ยึดตามข้อมูลจริงทางประวัติศาสตร์) ทว่าเค้ากลับทำตัวห่างเหินหมางเมินกับภรรยา เพราะที่จริงแล้วเค้าเป็นเกย์ และพึงใจจะใช้เวลาว่างอยู่กับสมาคมลับที่เหล่าเศรษฐีผู้ดีไฮโซคนในแวดวงการเมืองมารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองความเป็นเกย์และเควียร์ของตนกันอย่างลับๆ ต่างหาก แถมดูเหมือนว่า Ignacio จะพบรักกับหนุ่มหนวดงามคนใหม่เสียด้วย แล้วในช่วงเวลาแสนบีบคั้นเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างเค้ากับภรรยามาถึงทางตัน ในคืนสำคัญที่สมาชิกสมาคมลับทั้ง 42 คนได้จัดงานปาร์ตี้แต่งหญิงเต้นรำกัน จู่ๆ ก็มีการบุกเข้าจับกุมพวกเค้า แต่ เอ๊ะ ทำไมชื่อเรื่องถึงเป็น “การเต้นรำของ 41 คน” ล่ะ? คำตอบอยู่ท้ายเรื่องจ้ะ

ชอบตัวละคร Amada ภรรยาของ Ignacio มากๆ เพราะเธอไม่ใช่ผู้หญิงอ่อนหวานหรือว่านอนสอนง่าย แต่เป็นผู้หญิงที่มีด้านแข็งๆ และไม่ยอมแพ้ คนแบบนี้แหละที่เหมาะกับการต่อกรกับสามีเกย์อย่าง Ignacio แล้วพัฒนาการของตัวละครก็น่าดูชมมาก จากหญิงสาวผู้มีความหวังจะเป็นภรรยาที่ดีมีความสุข สู่การทุกข์ระทม พยายามค้นหาคำตอบ แล้วกลายร่างเป็นหญิงสาวที่สู้เพื่อทุกสิ่งอย่าง แม้ว่ามันจะเป็นวิธีการที่ผิดก็ตาม และด้วยตัวละครของเธอเองนี่ล่ะที่ทำให้เรื่องราวมันขับเคลื่อนและพลิกผันไปเช่นนี้ ขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นพัฒนาการของ Ignacio ด้วย จากชายหนุ่มที่มีอำนาจและควบคุมทุกอย่างได้ สู่การสูญเสียความควบคุมในแต่ละสิ่งแต่ละอย่างไปทีละน้อย เพราะความใจร้ายของเค้าที่มีต่อ Amada และความลุ่มหลงหรือความรักที่เค้ามีต่อ Eva ชายหนุ่มคนรักนั่นเอง ฉากจบของเรื่องจึงเป็นอะไรที่ดีงามมากๆ มันเจ็บปวดกันไปทุกฝ่ายจริงๆ

ยอมรับว่านี่เป็นหนังที่เราใช้เวลาดูนานมาก เพราะต้องกด Pause หยุดเป็นพักๆ ด้วยความบีบคั้นทางอารมณ์และลุ้นจนเหนื่อยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างทางไหม ก็นะ ตัวละครเกย์ที่ต้องปิดบังซ่อนเร้น แถมยังมีภรรยาสาวที่สู่ยิบตาแบบนี้ มันไม่ได้ทำให้เราหายใจได้ทั่วท้องตลอดเรื่องหรอก ยิ่งมวลอารมณ์กรุ่นๆ ลอยฟุ้งในเรื่องมากเท่าไหร่ เราก็อยากขอเวลานอกหยุดพักหายใจหายคอมากเท่านั้น และเมื่อฉากไคลแม็กซ์ของการจับกุมปาร์ตี้ชายแต่งหญิงมาถึง เราก็น้ำตาไหลไม่หยุด แล้วก็ทนไม่ไหวจนต้องเบือนหน้าหนี ในคืนวันที่ชาวเกย์ในยุคก่อนต้องหลบซ่อนตัวเอง ยอมแต่งงานมีลูกเพื่อทำตามหน้าที่หรือกรอบที่สังคมกำหนดและคาดหวัง การมารวมกลุ่มกันเช่นนี้เป็นเรื่องเลวร้ายถึงขนาดต้องลงโทษแบบนั้นเชียวหรือ เสียงคร่ำครวญของพวกเค้า “ลูกฉันต้องรู้แน่ๆ ทำยังไงดี” ใบหน้าอันเรียบเฉย แต่แววตาสั่นระริกด้วยความหวาดหวั่น หรือใบหน้าที่ยืนหยัดด้วยความทะนง แม้จะต้องถูกลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลงก็ตาม มันสั่นสะเทือนความรู้สึกของเรามาก โดยเฉพาะวิธีการที่ผู้กำกับอย่าง David Pablos เลือกใช้ฉลาดและดีงาม ... ดีงามจนต้องเบือนหน้าออกจากจออย่างที่บอก

Dance of the 41 (2020) - Filmaffinity

เหตุการณ์ครั้งนั้น (17 พฤศจิกายน 1901) กลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่และโจษจันกันไปทั่วเม็กซิโก และการจับกุมนั้นก็ด้วยความผิด “มีการรวมตัวกันของเหล่าผู้ชายที่แต่งกายเป็นผู้หญิง ซึ่งถือเป็นการละเมิดศีลธรรมและมารยาทอันดี” ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดเผยเรื่องคนรักเพศเดียวกันบนพื้นที่สื่อเป็นครั้งแรกในเม็กซิโก และในเวลาต่อมามันก็เป็นเชื้อไฟในกระบวนการเรียกร้องเพื่อสิทธิ LGBTQ+ ในเม็กซิโกด้วย ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ผลกระทบของคดีการเต้นรำของชาย 41 คนนี้ จะทำให้สังคมยุคนั้นมองความเป็น LGBTQ+ คือสิ่งผิดบาปรุนแรง ถึงขนาดว่าเลข 41 คือตัวเลขอัปมงคล ชาวเม็กซิโกจะไม่จัดงานวันเกิดในปีที่ 41 ไม่มีบ้านเลขที่หมายเลข 41 ไม่มีห้องพักในโรงแรมหมายเลข 41 ฯลฯ แต่ในทุกวันนี้ ด้วยการต่อสู้เคลื่อนไหวอันยาวนาน ที่ทางของ LGBTQ+ ในเม็กซิโกได้ถูกขยายขอบเขตไปกว้างขวางกว่าเดิมมากแล้ว โดยเฉพาะการมีกฎหมายรองรับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน (แม้จะมีเพียง 18 รัฐ จาก 31 รัฐ ที่จดทะเบียนแต่งงานกันได้ แต่กฎหมายนี้ก็ครอบคลุมสิทธิทั่วประเทศ)

ชม Dance of the Forty One ได้ทาง Netflix