• @TOM NEWS
  • May 2023

อนธการ The Blue Hour ความรุนแรงในครอบครัวกับลูกชายเกย์

Photos : จิร อังศุธรรมทัต
By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
พอรู้ว่า “อนธการ The Blue Hour” หนังเกย์แสนมืดหม่นของ “พี่นุชี่ - อนุชา บุญยวรรธนะ” จะถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครเวที ผ่านการดัดแปลงบทโดย “พี่โย - อภิรักษ์ ชัยปัญหา” และกำกับโดย “นพพันธ์ บุญใหญ่” ในฐานะการเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ของนายปัณธร จันทร์นิ่ม สาขาการแสดง ในหัวข้อ “การรับบทตัวละครวัยรุ่นเกย์ที่มีภาวะหลอกตัวเอง : กรณีศึกษาตัวละครตั้ม จากบทละครดัดแปลงเรื่อง อนธการ ของอภิรักษ์ ชัยปัญหา” เราก็ตื่นเต้นมาก แม้จะจองบัตรไม่ทัน (บัตรหมดอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่เกิน 3 นาที) แต่สุดท้ายก็ได้มาดู หลังจากลงชื่อเป็น Waiting List แล้วรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ

ต้องยอมรับก่อนว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะปรับให้หนังระทึกขวัญที่เน้นบรรยากาศและการพร่าเลือนโลกกึ่งจริงกึ่งฝันให้กลายมาเป็นละครเวทีที่มีข้อจำกัดหลายๆ อย่างในการสร้าง “ภาพ” ให้คนดูเห็นแบบในหนัง แล้วเมื่อความระทึกขวัญหรือสยองขวัญถูกลดทอนลงไป ความเป็นหนังดราม่าครอบครัวที่เล่นกับประเด็น LGBTQ+ และความรุนแรงในครอบครัวก็ดูจะขยายใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน

“ตั้ม” เกย์หนุ่มวัย ม.ปลาย ที่ถูกกลั่นแกล้งทำร้ายร่างกายทั้งที่โรงเรียน และที่บ้าน ดูเหมือนตั้มจะถูกพ่อทุบตีอยู่เสมอ ด้วยข้อหาว่าเป็นลูกที่ไม่ได้เรื่อง ขี้ขโมย และเป็นตุ๊ดเป็นเกย์ พี่ชายก็ดูจะเกลียดขี้หน้าเค้า และแม่ก็ปกป้องเค้าไม่ได้เลย ซ้ำยังเอ่ยปากขอให้เค้าพยายามเลิกชอบผู้ชายอีก ดังนั้น การที่ตั้มได้มาเจอกับ “ภูมิ” เพื่อนชายลึกลับที่ดูเหมือนจะเข้าใจเค้ามากกว่าใครๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต แต่แล้วเมื่ออะไรๆ ดูจะเลวร้ายลงเรื่องๆ ปลายทางของตั้มก็ดูเหมือนจะมืดมนลงเรื่อยๆ เช่นกัน

ถึงจะแอบรู้สึกว่ามันจงใจพูดถึงครอบครัวที่ไม่ยอมรับลูกๆ LGBTQ+ แบบตรงไปตรงมามากไปหน่อย (ตรงนี้ก็ต้องย้อนกลับไปที่ตัวบทดั้งเดิมด้วยแหละ ที่พอถอดความระทึกขวัญออก เออ มันพูดเรื่องนี้จริงจังเลยนี่นา) แต่การที่ลูกชายเกย์อย่างตั้มเป็นเด็กไม่เอาไหน เกเร มีด้านมืดๆ เทาๆ อยู่เยอะ มันก็น่าสนใจดี แม้ว่าเราจะแอบรู้สึกว่าบทพูดของตัวละครภูมิและตั้มที่มีต่อกรอบการเป็น “ลูกชายเกย์ที่ดี” นั้นจะดูยัดเยียดความคิดไปหน่อยก็ตาม แต่มันก็ดีแล้วแหละที่มีอะไรแบบนี้ให้ผู้คนได้ฉุกคิดบ้าง



แล้วพอมันพูดถึงความเป็นเกย์กับครอบครัว เราก็พาลน้ำตาไหลตลอดเวลา ประสบการณ์ส่วนตัวถูกทาบทับเข้ากับตัวละครแบบซีนต่อซีน ถึงเราจะไม่ถูกทำร้ายร่างกายแบบตั้ม แต่ประโยชน์ที่แม่พูดกับตั้ม เราเคยผ่านมาหมดแล้ว แล้วก็เข้าใจถึงความโดดเดี่ยว อ้างว้าง เจ็บปวดของตั้มเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ฉากที่ตั้มเจอกับภูมิก็ทำให้เราหวนคิดถึงการรู้จักและสำรวจตรวจสอบความสัมพันธ์ของตัวเองกับผู้ชายในวันเก่าก่อน ซีนต่างๆ เหล่านี้ ตัวละครตรงหน้าทำได้ดีมากเลยล่ะ

แต่ความเป็นละครเวทีมันก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ความน่ากลัว หวาดหวั่น สยองขวัญสั่นประสาทหายไป มีหลายซีนที่เราเสียดาย และคิดว่ามันน่าจะหาทางออกให้กับซีนได้ดีกว่านี้ อย่างซีนศพในห้องน้ำ มันควรจะมีอะไรช่วยตัวละครมากกว่าการปล่อยให้ตัวละครและคนดูจินตนาการจากความว่างเปล่าแบบนั้น หรือแม้แต่ซีนความตายในช่วงท้ายของเรื่อง มันก็ออกจะซื่อตรงเกินไปหน่อย แน่นอน เราหมายรวมถึงช่วงเวลาอันแสนสับสนช่วงท้ายๆ ที่คิดว่าเวอร์ชั่นหนังทำได้ดีกว่า การมีอยู่หรือไม่ของตัวละครภูมินั้น พอมาเป็นเวอร์ชั่นละครเวที มันดูงุนงงแบบงงกว่าเวอร์ชั่นหนังเยอะเลย

ปรบมือให้ทีมนักแสดงทุกคนในเรื่อง โดยเฉพาะ ปัณธร จันทร์นิ่ม ในบทตั้ม ที่แบกละครทั้งเรื่องไว้ด้วยการปรากฏกายเกือบตลอดเวลา แล้วทำให้ตัวละครตัวนี้มีทั้งด้านอ่อนไหว เปราะบาง ก้าวแกร่ง ท้าทายโลก ด้านมืดอึมครึม ด้านเสพติดความรุนแรง ด้านสว่างสดใส แล้วเคมีระหว่างเค้ากับ นวิน พรกุลวัฒน์ ในบทภูมิก็น่าสนใจมาก มันเหมือนจะไม่เข้ากัน แต่ก็เข้ากันอย่างไม่น่าเชื่อ

ภาพถ่ายโดย จิร อังศุธรรมทัต
#อนธการ #DramaArtsChula #JiraJokeTheatrePhotographer