• @TOM NEWS
  • Dec 2017

ประกาศความภาคภูมิใจ รวมคำกล่าวบนเวทีของผู้ได้รับรางวัลอรรธนารีศวร [PART II]

Photos : สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
By : Ruta
​​นับว่าเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจจริงๆ สำหรับรางวัล “อรรธนารีศวร” ซึ่งสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ร่วมกับ Armed Forces Research Institute of Medical Science (AFRIMS), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดงานมอบรางวัลเพื่อประกาศเกียรติคุณต่อบุคคลและหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการทำงานของบุคคลหลากหลายทางเพศ โดยปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติ

โดย @tom actz ก็ขอรวบรวมคำกล่าวบนเวทีของผู้ได้รับรางวัลต่างๆ มาให้ได้อ่านกันอย่างเต็มอิ่มจุใจ เพราะเชื่อว่า นี่คือการส่งต่อแรงบันดาลใจและพลังแห่งความภาคภูมิใจของพวกเราชาว LGBT จริงๆ ... ทั้งนี้ขอขอบคุณอาสาสมัครผู้ถอดคำปราศัยต่างๆ เหล่านี้ มา ณ ที่นี้

รางวัลอรรธนารีศวร ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของชุมชนหลากหลายทางเพศ ประเภทบุคคล : อัญชนา สุวรรณานนท์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “อัญจารี” เมื่อปี พ.ศ.2529 เป็นกลุ่มที่ทำงานเพื่อหญิงรักหญิงในไทย

“คิดถึงตอนที่ดิฉันพยายามที่จะตั้งกลุ่มหญิงรักหญิงนะคะ ในช่วงปี 2527 – 2528 บางท่านอาจจะยังไม่เกิด และไม่ต้องตกใจ ตอนนั้นมันเหมือนเป็นยุคบุกเบิกน่ะค่ะ ทุกๆ อย่างมันมืดมิด เราไม่รู้ว่า ถ้าเปิดตัวออกมา ทำเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ เราจะเป็นยังไง เราจะโดนโจมตีไหม จะหาเพื่อนที่พร้อมเปิดเผยตัวเองเพื่อที่จะให้ข่าวกับสื่อ หรือพูดกับหน่วยงานรัฐต่างๆ ในเรื่องของนโยบายในเรื่องของกฎหมาย ก็ไม่มีใครที่พร้อมที่จะออกไป มันก็เป็นเรื่องที่ลำบากยากมาก แต่พอดิฉันได้รับทราบเรื่องที่จะได้รับรางวัล ก็เลยไปค้นข้าวของของตัวเองดู ก็ไปพบจดหมายค่ะ จริงๆ ที่บอกว่าตั้งกลุ่มปี 2527 – 2528 แต่ว่าไปพบจดหมายที่ตัวเองเขียนไปหาอาโก๋ ปากน้ำ ตอนนั้นสื่อไทยกระแสหลักยังไม่เปิดรับเรื่องของเราค่ะ จะมีการพาดหัวข่าวว่า ทอมดี้เกลื่อนเมือง เป็นสวะสังคม แต่ในยุคเดียวกันเนี่ยก็มี โก๋ ปากน้ำ คอลัมนิสต์ในนิตยสารแปลก คือชื่อก็แปลกแล้วค่ะ หนาวๆ ร้อนๆ แต่ก็แอบเอามาอ่าน เพราะว่ามันไม่มีที่ไหนมีเรื่องของเรา โดยที่เป็นคอลัมน์จดหมาย ตีพิมพ์จดหมายจากชาวเกย์ เป็นส่วนใหญ่ แล้วลุงโก๋ก็ให้คำตอบที่ค่อนข้างจะให้กำลังใจ ดิฉันก็เลยเขียนไปบ้าง แล้วก็ดูปีที่เขียนไปนะคะ 2519 ตอนนั้นดิฉันอายุ 18 ปี เรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 – 3 เดือนก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา

ตอนนั้นดิฉันรู้สึกว่า ทำไมโลกมันโหวงเหวงอะไรอย่างนี้ แม้แต่แฟนเราก็ไม่ต้องการให้ใครรู้ ต้องแอบเป็นแฟนกัน ก็เลยเขียนไปหาอาโก๋ แล้วก็บอกว่า สักวันอยากจะเปิดศูนย์ที่ทำให้หญิงรักหญิงได้มาพบกัน โดยไม่ต้องรู้สึกว่าถูกแบ่งแยกเมื่อเปิดเผยตัว จากวันนั้นถึงวันนี้ ดิฉันลองนับดูว่ามันก็สี่สิบกว่าปี นานจัง แต่ก็เห็นว่ามีอะไรที่เปลี่ยนไปเยอะค่ะ แล้วทุกๆ อย่างที่มันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอัญจารีที่ดิฉันจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือหญิงรักหญิง แล้วก็งานต่างๆ ที่ทำ ดิฉันช่วยเรียกร้องในเรื่องรัฐธรรมนูญไทยเมื่อหลายปีก่อน และช่วยเรียกร้องรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอให้มีพระราชบัญญัติที่คุ้มครองมากกว่าเพศชายหญิง และการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับชีวิตคู่และชีวิตสมรส ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำคนเดียว อยากจะบอกว่า รางวัลนี้เป็นรางวัลสำหรับเพื่อนๆ ทุกคนที่ช่วยกันทำ หลายๆ คนก็ทำโดยที่ไม่เคยจะสามารถเปิดเผยชื่อของเขาได้ เพราะเขาไม่พร้อมที่จะอยู่ในสายตาของสังคมที่ไม่ยอมรับ นี่คือปี พ.ศ. 2560 นะคะ แต่เพื่อนของดิฉันที่ร่วมงานกันมา ก็ยังมีบางคนไม่พร้อมเปิดเผยค่ะ ดิฉันหวังว่า ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปในอีกทิศทางนึง

ดีใจมากที่มีวันนี้ ตั้งแต่เริ่มทำงานมา ไม่เคยคิดว่าจะมีวันแบบนี้ วันที่มีรางวัลให้กับคนที่ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ เราเคยแต่ต้องแอบทำ เราเคยแต่ทำแล้วต้องเผชิญกับสายตา เผชิญกับการดูถูกต่อว่า แต่วันนี้เราเป็นอิสระ เรามีอิสระที่จะรับรางวัลนี้ได้ ขอให้งานที่สมาคมฟ้าสีรุ้งทำ และเพื่อนๆ หลายๆ คนทำ เปิดฟ้า เหมือนกับฟ้าเริ่มสางแล้ว ที่เราทำกันมาก่อนหน้านี้ 40 ปี มันเป็นเพียงการเริ่มต้น มันเป็นการบุกเบิกค่ะ แต่ตอนนี้เพื่อนๆ พี่น้องทุกคน ขอให้นำสังคมไทย ไปให้สุดทางเลยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ”
 

รางวัลอรรธนารีศวร ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของชุมชนหลากหลายทางเพศ ประเภทหน่วยงาน : องค์กรสวัสดิการสังคมบันดู (Bandhu Social Welfare Society) เป็นองค์กรที่ทำงานเรื่องสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนกับประชากรที่เป็นเพศชนกลุ่มน้อยในบังกลาเทศ

"สวัสดีผู้มีเกียรติทุกท่าน ดิฉันเพิ่งได้รับการติดต่อจากเพื่อนชื่อ คุณชาเล่ ฮาเมส ซึ่งเป็น Exclusive Director ผู้อำนวยการของ Bandhu Social Welfare Society เมื่อวันเสาร์ เขาบอกให้ช่วยมารับรางวัลแทน คุณชาเล่เป็นเพื่อนกับดิฉันมาประมาณ 20 ปีแล้ว ตอนที่เขาเริ่มทำก่อตั้งบันดู เมื่อปี 2539 ซึ่งกว่าจะมีเป็นสมาคมขึ้นมาก็ใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่ง ก็คงเหมือนเพื่อนๆ น้องๆ ทุกคน ที่จะต้องก่อร่างสร้างตัวเป็นองค์กร คิดว่าทางสมาคมของบันดู มีความตั้งใจที่จะพัฒนาโซเชียลแฟร์ให้กับพี่น้องที่มีความหลาหลายทางเพศทั้งประเทศ ที่ได้ดำเนินการทั่วประเทศ และก็ได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ

รางวัลอันนี้ ชาเล่บอกว่าอยากมารับเองมาก แต่ว่าเนื่องจากเพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ไปประชุมเกี่ยวกับ LGBT ด้วย เลยมาไม่ไหว วันนี้ก็ด้วยความผูกพันกับเพื่อนหลากหลายทางเพศทั้งหลาย ก็ต้องมารับรางวัลแทน รางวัลอันนี้จะส่งให้ชาเล่อย่างไรดี ยังไงจะลองปรึกษาทางทีมงานสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เพราะมันไม่เบาเลย (ยิ้ม) ขอบคุณค่ะ"

สำหรับผู้ได้รับรางวัลในสาขาอื่นๆ มีดังนี้
> ด้านรางวัลสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนหลากหลายทางเพศ ประเภทบุคคล : ฟริตซ์ แวน กริซแวน
> ด้านรางวัลสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนหลากหลายทางเพศ ประเภทองค์กร : ศูนย์องค์รวม โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ จ.อุบลราชธานี
> ด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งและศักยภาพของชุมชนหลากหลายทางเพศ ประเภทบุคคล : แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์
> ด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งและศักยภาพของชุมชนหลากหลายทางเพศ ประเภทหน่วยงาน : Blued Application 
> Pride Award ประเภทบุคคล : ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
> Pride Award ประเภทหน่วยงาน : มูลนิธิซิสเตอร์ 
> รางวัลพิเศษ Friendship Award : เกล็น เดวีส์ เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย