• @TOM NEWS
  • Jun-Jul 2021

พฤติการณ์ที่ตาย (Manner of Death) เมื่อตัวละครเกย์อยู่ในซีรี่ส์สืบสวนสอบสวน

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
เป็นซีรี่ส์ที่ปลื้มมากอีกเรื่อง ด้วยมิติที่หลากหลายและเลเยอร์ที่ซ้อนทับกันหลายชั้น แล้วมีรายละเอียดแบบนี้ในทุกองค์ประกอบ ทั้งตัวละคร โทนเรื่อง เส้นเรื่อง ปมปัญหา และบรรยากาศ แล้วผู้กำกับอย่าง “มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” และ “ณัฐพงษ์ อรุณเนตร์” ก็พร้อมจะพลิกไปพลิกมาเล่นสนุกกับเลเยอร์เหล่านั้นตลอดเวลา จากโหมดสืบสวนสอบสวน ระทึกขวัญฆาตกรรม ไปดราม่าบีบคั้น โรแมนติก คอมเมดี้ ไปแอ็คชั่น ไปการเมือง โดยที่ไม่ได้ทำให้อารมณ์สะดุดเลย ตรงกันข้าม มันยิ่งทวีความสนุก ตื่นเต้น ลุ้นระทึก และทำให้เราหลงรักตัวละครมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากเดินทางกลับมาเป็นคุณหมอแผนกนิติเวชที่บ้านเกิด ณ เวียงผาหมอกได้ไม่นาน “หมอบรรณ” ก็ต้องทำหน้าที่ชันสูตรศพเพื่อนสมัยเรียนมัธยมฯ แล้วพบว่า เจนจิรา เสียชีวิตจากการฆาตกรรม ไม่ใช่การฆ่าตัวตายอย่างที่ถูกจัดฉาก แล้วจากตรงนั้น มันก็ทำให้เค้าต้องไปพัวพันกับการข่มขู่คุกคามจากชายชุดดำลึกลับ และผู้คนรายล้อมคดีอีกมากมาย โดยเฉพาะ “ครูแทน” ชายหนุ่มผู้พบศพของเจนจิราเป็นคนแรก ที่ไม่อาจทำใจเชื่อได้ว่า เขาจะไม่มีส่วนรู้เห็นกับคดีฆาตกรรมนี้

ชอบตัวละครหมอบรรณมากๆ แล้วตรงนี้ต้องชื่นชมการแสดงของ “ตุลย์ ภากร ธนศรีวนิชชัย” ด้วย ที่สร้างตัวละครที่มีเสน่ห์ มีมิติความเป็นมนุษย์ได้แบบนี้ นี่คือตัวละครหมอที่อยู่ในซีรี่ส์ดราม่าสืบสวนแล้วเป็นธรรมชาติมาก ทั้งมุมจริงจังในการทำงาน มุมสบายๆ สนุกสนาน เป็นกันเอง มุมดราม่าหวั่นไหว ไปจนถึงพาร์ตโรแมนติกที่ทำให้เราเชื่อในทุกการขยับเขยื้อนของตัวละคร ส่วน “แม็กซ์ ณัฐพล ดิลกนวฤทธิ์” ก็ทำให้ตัวละครแทนดูมีเสน่ห์ลึกลับ และมีด้านเปราะบางสับสนในความแข็งแกร่งของตัวละครได้ดีเหมือนกัน ชอบมากด้วยที่ทั้งคู่ทำให้ตัวละครดูเป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะได้สมจริงแบบนั้น แล้วการพูด “คุณ/ผม” ก็เข้าปาก ไม่ติดขัดเลย (ผิดกับละคร/ซีรี่ส์หลายๆ เรื่องที่เรามักจะสะดุดเวลาตัวละครใช้สรรพนามแบบนี้) แน่นอน #แม็กซ์ตุลย์ ยังเป็นคู่นักแสดงที่มีเคมีดีมากๆ โดยเฉพาะฉากเลิฟซีนร้อนผ่าว โดยที่ไม่ต้องทำอะไรหวือหวาเยอะแยะ

Manner of Death EP.11 [ENG, China, CC] Full - วิดีโอ Dailymotion

แล้วก็แปลกมากๆ ที่ถึงจุดหนึ่ง เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นซีรี่ส์วาย หรือซีรี่ส์ที่เล่าความสัมพันธ์ของตัวละครผู้ชายสองคนอะไรแล้ว เพราะตัวเรื่อง ประเด็น ปมปัญหามันใหญ่กว่านั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีนะที่ตัวละครหมอบรรณกับครูแทนมันสามารถยืนหยัดอยู่ในเรื่องเล่าแบบนี้ได้โดยไม่เคอะเขินหรือแปลกประหลาด จนต้องไปโฟกัสความพิเศษของความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร คือเราสามารถเห็นตัวละครหลักเป็นผู้ชายสองคน (หรือเกย์) อยู่ในเรื่องเล่าประเภทอื่นๆ ได้แบบนี้ มันดีงามจะตายไป (แล้วก็อยากเห็นอะไรแบบนี้อีก จะให้ไปอยู่ในหนังตระกูลไซไฟ แอ็คชั่น ผจญภัย อะไรก็ได้)

ในความเป็นซีรี่ส์สืบสวนสอบสวนประเภทใครเป็นคนฆ่า การค่อยๆ หยอดเบาะแส เผยปมปัญหา และการเล่าย้อนกลับไปกลับมา เพื่อเปิดเผยแง่มุมลับๆ ของแต่ละตัวละคร “พฤติการณ์ที่ตาย” ทำได้ดีมาก ถึงจะมีคนเดาเรื่องได้ถูกอยู่บ้าง แต่ไม่มีทางเดาได้ถูกทั้งหมดแน่ๆ เพราะตัวเรื่องมันซับซ้อนกว่านั้นเยอะ แล้วพอถึงจุดที่เรามั่นใจว่าใครคือฆาตกรได้แล้ว ความสนุกมันก็ยังมีต่อ เพราะเราไม่รู้ว่า ฝั่งพระเอกจะเอาชนะได้อย่างไร ในเมื่ออีกฝั่งคือการเดินหน้าไปสู่อำนาจมืดโดยเอาแต่พร่ำบอกว่า ตัวเองเดินมาไกลเกินไปแล้ว หันหลังกลับไม่ได้แล้ว มากไปกว่านั้น ถึงจุดหนึ่ง เราก็จะมองเห็นภาพกว้างที่มากกว่าแค่คดีฆาตกรรมธรรมดาๆ แต่มันกำลังพูดถึงระบบอำนาจอันเลวร้ายต่ำทราม ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ การล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรง การทุจริตคอรัปชั่น แล้วในฉากหน้าอันแสนสงบสุขของเวียงผาหมอกก็เต็มไปด้วยความสกปรกที่ซุกซ่อนอยู่มากมาย และใช่! ไม่ใช่แค่เวียงผาหมอกหรอก แต่ทั้งประเทศไทยนี่แหละที่เป็นแบบนั้น 

ชม "พฤติการณ์ที่ตาย" ได้ที่ WeTV