• @TOM NEWS
  • May 2021

ฉันผู้ชายนะยะ หน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ LGBTQ ไทยในภาพยนตร์ปี 2530

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
เราตื่นเต้นเสมอกับการค้นพบเรื่องราวของชาว LGBTQ ในยุคก่อน และนับถือพวกเค้าเสมอในฐานะผู้กรุยทางให้เราก่อน ไม่ว่าเส้นทางนั้นจะดีหรือร้าย จะทำให้สังคมเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิดใดๆ เพราะทุกสิ่งอย่างนั้นก็คือการเรียนรู้และลองผิดลองถูก แล้วมันก็ประกอบร่างสร้างประวัติศาสตร์ LGBTQ ขึ้นมาให้เราได้เลือกว่าจะเดินตามหรือจะหาหนทางใหม่ๆ แล้วเดินไปเอง
 
เราค้นพบ “ฉันผู้ชายนะยะ” ในช่วงวัย ม.ต้น เมื่อมันถูกนำกลับมาฉายในโทรทัศน์ในรายการประเภทหนังไทยเช้าวันเสาร์/อาทิตย์ แล้วก็ตื่นเต้นดีใจว่า มันมีหนังไทยแบบนี้ด้วยเหรอ แต่ที่ทำให้เราตื่นเต้นจริงๆ ก็คือตอนได้กลับมาย้อนดูอีกครั้งในช่วงเรียนมหา’ลัย ช่วงเวลาที่เรากำลังค้นหาตัวเอง สร้างบุคลิกภาพ และมองไปยังอนาคต ซึ่ง “ฉันผู้ชายนะยะ” ก็ทำให้เรามองเห็นถึงความหลากหลายของความเป็นไปได้ในการเป็นเกย์ และได้พบว่า มันเป็นไปได้ที่เราจะมีกลุ่มเพื่อนเกย์แบบนี้
 
เรื่องราวของกลุ่มเพื่อนเกย์/กะเทยที่มารวมตัวกันที่บ้านของ “มด” สจ๊วตหนุ่มมาดแมนที่แปลงร่างเป็นเกย์สาววี๊ดว๊ายเมื่ออยู่กับเพื่อนๆ เสมอ เพื่อจัดปาร์ตี้วันเกิดให้ “เต้ย” เกย์ตัวแม่ของกลุ่ม ทว่าเรื่องวุ่นๆ ก็เกิดขึ้นเมื่อแขกที่ไม่ได้รับเชิญอย่าง “อั้น” เพื่อนหนุ่มสมัยเรียนที่ มช. ของมดโผล่มา แล้วเพราะความเกลียดตุ๊ดของอั้นนี่ล่ะ ที่ทำให้มดสติแตกบัญญัติและบังคับให้ทุกคนเล่นเกมจิตวิทยา โดยจะต้องยกหูโทรศัพท์โทรหาคนที่ตัวเองรักมากที่สุด แล้วบอกรักคนคนนั้น ทีนี้ ผู้ชมอย่างเราๆ ก็ได้รับรู้บาดแผลของสมาชิกแต่ละคน ไปพร้อมกับการหาตัวผู้ชนะในเกมนี้
 
หลายคนอาจจะคุ้นๆ พล็อตของเรื่อง เพราะมันสร้างมาจากบทละครเวที The Boys in the Band (ที่เพิ่งถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดของ Netflix และเราได้เขียนถึงไปแล้ว) แล้วเส้นทางของ “ฉันผู้ชายนะยะ” ก็คล้ายๆ กับต้นเรื่อง คือถูกเอามาสร้างเป็นเวอร์ชั่นละครเวทีก่อน โด่งดังเป็นพลุแตกเล่นซ้ำเป็นร้อยรอบ ถูกเอามาสร้างเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา และยังถือเป็นบทละครเวทีคลาสสิกที่มีการหยิบมาทำใหม่อยู่บ่อยๆ

May be an image of 6 people
 
สำหรับเราแล้ว เวอร์ชั่นภาพยนตร์โดยการกำกับของหม่อมน้อย (หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล) นี้มีอะไรหลายอย่างที่เก๋มากนะ อย่างกลุ่มตัวละครกะเทยแต่งหญิงที่โผล่ไปโผล่มาในฉากย้อนอดีตของมด (จนถึงฉากสุดท้ายของเรื่องที่นางโผล่มาปิดประตูบ้าน) การบิดเรื่องจากเวอร์ชั่นฝรั่งมาเล่าในบริบทไทยๆ ที่สะท้อนภาพชีวิตเกย์ในยุค 30 ปีก่อน หรือแม้แต่การใช้ถ้อยคำที่สะท้อนภาพของคนภายนอกที่มองมายังกลุ่มเกย์ (ซึ่งต่างจากเวอร์ชั่นอเมริกันมาก) แต่ก็ต้องย้ำว่า การดูหนังเรื่องนี้ให้สนุกก็ต้องมองด้วยกรอบของการเป็นหนังไทยในยุคนั้นด้วย ถึงจะสนุก
 
ชอบมากด้วยแหละที่ได้เห็นนักแสดงรุ่นใหญ่หลายๆ คนโลดแล่นด้วยบทบาทจัดจ้านแบบนี้ โดยเฉพาะ ชลิต เฟื่องอารมณ์, สุรศักดิ์ วงษ์ไทย, มารุต สาโรวาท, อาจารย์ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง หรือแม้แต่ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ในบทเลิฟซีนกับผู้ชาย
 
ป.ล. เรามีโอกาสพูดถึง “ฉันผู้ชายนะยะ” อย่างละเอียดในรายการ #หน้าชั้น ของ #ศูนย์วิจารณ์ ตั้งแต่นาทีที่ 21:55 เป็นต้นไป คลิกชม https://youtu.be/JP2oVzfqebQ

May be an image of 2 people

May be an image of 1 person