• @TOM NEWS
  • Jan 2018

10 อันดับละครเวทีและการแสดงจริตเกย์ในปี 2017

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง

เพจ ชีวิตผมก็เหมือนหนัง จัดอันดับ 10 อันดับละครเวทีและการแสดงที่ได้ดูแล้วสัมผัสแตะต้องจิตใจชาวเกย์มากที่สุดในปี 2017 ซึ่งเขายืนยันว่ามีแรงบันดาลใจ และเรื่องเซอร์ไพรส์ในละครและการแสดงโรงเล็กอีกมากมาย

Image may contain: 1 person, text

เล่นลิเก Play of My Life (2017)

รู้สึกเป็นบุญชีวิตเหลือเกินที่ในที่สุดก็ได้ชมลิเก “พี่ตั้ว - ประดิษฐ ประสาททอง” เสียที แม้จะเป็นการแสดงผสมผสานที่มีฉากร้องรำลิเกเป็นส่วนประกอบก็ตามที แต่ “เล่นลิเก Play of My Life” ก็ทำให้เรานั่งขนลุกอยู่ตลอดการแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเป็นการนำเสนออัตชีวประวัติของพี่ตั้วควบคู่ไปกับการถ่ายทอดจิตวิญญาณความเป็นลิเกแบบถึงราก ก็ยิ่งทำให้เราดื่มด่ำ อิ่มเอม โดยไม่ลืมความสนุกสนานอันเป็นเอกลักษณ์ของลิเก จนยอมหลุดไปอยู่ในโลกใบนี้แต่โดยดี

ในขณะที่พี่ตั้วเล่าถึงความประทับใจแรกที่มีต่อลิเก การเดินทางเข้าไปสัมผัสลิเกชาวบ้าน การสร้างสรรค์ผลงาน “ลิเกปรุงประดิษฐ์” เพื่อคนชนชั้นกลางของตนเอง ความฝันแรงปรารถนาและเรื่องราวอันน่าซาบซึ้งเกี่ยวกับแม่ พร้อมกันนั้นพี่ตั้วก็พาเรานั่งจดเล็คเชอร์ถึงประวัติศาสตร์การแสดงอันเก่าแก่ของไทยที่ชื่อว่า “ลิเก” ไปด้วย และที่ทำให้เราขนลุกมากขึ้นไปอีก คือการกระตุ้นเตือนให้เราเห็นว่า ลิเกไม่ใช่การแสดงเพื่อตัวศิลปินเอง แต่เป็นการแสดงเพื่อประชาชนโดยแท้ และเราก็เชื่อว่าลิเกมันจะไม่ตาย เพราะวันนี้พี่ตั้วก็ทำให้เราเห็นแล้วว่า ลิเกนั้นสนุกและมีเสน่ห์มากแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นลิเกสมัยใหม่แบบ “ปรุงประดิษฐ์” หรือลิเกชาวบานก็ตามที

เห็นด้วยกับ ศ.ดร. เจตนา นาควัชระ ที่อยู่ชวนคุย Q&A ปิดท้ายการแสดงว่า การแสดงของพี่ตั้วนั้นเป็นการแสดงกึ่งอัตชีวประวัติที่น่าอัศจรรย์มาก เพราะมันไม่ได้อวดอ้างคุณงามความดีหรือบอกเล่าชีวิตของเจ้าของเรื่องเพียงเท่านั้น แต่มันมีอะไรมากมายกว่านั้นอยู่ด้วย ที่สำคัญ มันเป็นการเล่าแบบทางสายกลาง ไม่ได้ยกยอตนเองสุดโต่ง และไม่ได้ถ่อมตนจนเกินงาม มันพอดิบพอดีซะจนต้องยกย่อง และต้องขอกราบขอบพระคุณ ศ. กิตติคุณ ดร. สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านใน Q&A ที่ทำให้เรามองเห็นความงดงามของไวยากรณ์ศิลปะคำร้องและการร่ายรำของลิเก ทุกอย่างมีที่มาที่ไป มีเรื่องราว และมีราก และสิ่งที่พี่ตั้วสร้างสรรค์ในงานผสมผสานชิ้นนี้ก็งดงามด้วยเพราะเข้าใจรากลึกอย่างแท้จริง 

No automatic alt text available.

ตึกคุณหญิงหรี่ Madam Ree Building (2017)

เอาจริงๆ แค่เห็น 3 ชื่อ จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ, ปานรัตน กริชชาญชัย และ ศุภสวัสดิ์ บุรณเวช มาทำงานด้วยกัน เราก็อยากดูละครเวทีเรื่องนี้จนตัวสั่นแล้ว แต่ก็นั่นแหละ ผลงานที่พวกเค้าเคยทำเอาไว้มันก็ก่อเกิดกลายเป็นความคาดหวังที่มีสูงลิบด้วยเหมือนกัน เรื่องราวของ “ตึกคุณหญิงหรี่ Madam Ree Building” เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งคืนในการคืนสู่เหย้าของเหล่าสมาชิกนักเรียนโรงเรียนอุดมทิพย์วิทยา รุ่น65 พร้อมกับอำลาตึกคุณหญิงหรี่ที่กำลังจะถูกทุบในคืนวันเดียวกัน เราได้พบกับ สมยศและวิภา คู่รักที่ใครๆ ก็อิจฉา เพราะคบและหวานชื่นกันมาตั้งแต่สมัยเรียน จนมีลูกโตเป็นหนุ่ม ทว่าที่จริงแล้วในความอบอุ่นที่เห็น ก็มีปมอันเปราะบางและความไม่เข้าใจกันในครอบครัวรอสะสางอยู่ ไม่ต่างอะไรจากชีวิตอันไม่สมบูรณ์ของเพื่อนๆ ร่วมรุ่นที่มารวมตัวกันนั่นแหละ

ชอบการสร้างโลกและจักรวาลของเรื่องราวในช่วงแรกเริ่ม มันค่อยๆ สร้างบรรยากาศพิเศษโอบล้อมผู้ชมอย่างเราๆ และเหมือนเราได้นั่งชมการสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยตาตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นการตลบกลับมาเล่นเรื่องจักรวาลในช่วงหลังก็น่าสนใจมาก ชอบการผสมผสานลีลาคอมเมดี้เอะอะมะเทิ่งให้เข้ากับอารมณ์ดราม่า และกลิ่นอายของการเป็นงานกึ่งทดลอง ที่ออกมาลงตัว ไม่ขาดไม่ล้น ชอบการแสดงของนักแสดงทุกคน “ปานรัตน กริชชาญชัย” และ “ศุภสวัสดิ์ บุรณเวช” ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ที่ได้เห็นทั้งคู่ “เล่นน้อย” กว่าที่คิด ซึ่งกลายเป็นเรื่องดี และเคมีของตัวละครนั้นน่าเชื่อมาก “ญาดามิน แจ่มสุกใส” ใครบ้างจะไม่รักเธอ การเป็นนักแสดงผู้เล่าเรื่องและต้องสวมบทบาทหลากหลาย ถ้าพยายามมากไป มันจะดูน่าหมั่นไส้ ดูล้น และไม่น่ารัก แต่เธอทำให้ทุกฉากทุกตอนพอเหมาะพอดี และกลายเป็นสีสันที่งดงามมากในจักรวาลนี้ ส่วน “วิศรุต หิมรัตน์” เสน่ห์ท่วมท้นกระจายไปทั่ว และการแสดงก็ไม่ได้ถูกดูดกลืนหายไปไหนเลย

มีหลายฉากหลายตอนที่ชอบมาก หัวเราะจนเหนื่อยกับความกวนตีนของบทและนักแสดง นั่งยิ้มจนแก้มปริกับบรรยากาศรำลึกความหลัง และทำให้เรานั่งเช็ดน้ำตา ทั้งๆ ที่มันไม่ได้มีการเค้นอารมณ์อย่างจงใจใดๆ เลย แต่พอละครแตะต้องประเด็นเรื่องครอบครัว ความฝัน ความทรงจำ และความเป็นจริง มันก็ยากจะที่กลั้นน้ำตาน่ะนะ ที่สุดแล้วเราว่า งานชิ้นนี้ของ “ชวน จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ” ยังมีกลิ่นอายจากงานก่อนๆ ของเค้าอยู่ แต่ก็โตขึ้นมาก คมขึ้นมากในทุกจังหวะ และนั่นยิ่งทำให้เราเฝ้ารอคอยงานชิ้นต่อไปของเค้าอย่างใจจดใจจ่อ

No automatic alt text available.

สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ (Bangkok Notes) (2017)

ระหว่างที่นั่งดูก็แอบคิดถึงงานภาพยนตร์ของ ยาสุจิโร โอสุ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องการพบหน้ากันของครอบครัว การดูแลพ่อแม่ ตัวละครหญิงในเรื่อง ไปจนถึงจังหวะ ความเรียบน้อย ทว่ามีมวลอารมณ์เหงาเศร้าแต่อุ่นๆ อยู่ พอมาอ่านข้อมูลการแสดงทีหลังก็เลยเก็ต เพราะละครเวที “สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ” (Bangkok Notes) ดัดแปลงมาจากบทละครภาษาญี่ปุ่น Tokyo Notes ของ ศ.โอริสะ ฮิราตะ คนละครเวทีชาวญี่ปุ่น ซึ่งเขียนขึ้นตั้งแต่ 23 ปีที่แล้ว และได้แรงบันดาลใจมาจาก Tokyo Story ของ ยาสุจิโร โอสุ อีกที . เรื่องราวเกิดขึ้นในแกลอรี่ศิลปะแห่งหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสได้จัดแสดงผลงานภาพวาดของศิลปินชื่อดังระดับโลกอย่าง Johannes Vermeer เพราะเกิดสงครามขึ้นในฝั่งยุโรป งานระดับโลกเหล่านี้จึงถูกส่งมาลี้ภัยในประเทศแถบเอเชีย และในแกลอรี่แห่งนี้เอง ผู้ชมอย่างเราๆ ก็ได้นั่งเฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวของผู้คนอันหลากหลาย แอบฟังบทสนทนาเรื่องส่วนตัวของพวกเค้า และนั่งคิดถึงชีวิตของตนเองไปพลางๆ

ในขณะที่หลายคนบ่นว่า พอดัดแปลงจากความเป็นญี่ปุ่นมาสู่บริบทแบบไทยๆ มันยังมีความไม่น่าเชื่ออยู่บ้าง เรากลับมองว่านี่เป็นจังหวะที่พอเหมาะพอดีและน่าเชื่อมากในสังคมไทยวันนี้ โดยเฉพาะเรื่องการเดินชมแกลอรี่ศิลปะในเมืองไทย ครอบครัวที่แปรเปลี่ยนกระจัดกระจาย หน้าที่ความรับผิดชอบและการเสียสละของลูกสักคนที่ต้องดูแลพ่อแม่ซึ่งแก่เฒ่า การโต้ตอบและอยู่ร่วมกันของทัศนคติที่แตกต่างคนละขั้ว ชอบที่สุดกับจังหวะในการกำกับของ ศ.โอริสะ ฮิราตะ (ใช่ เจ้าของบทละครดั้งเดิม มากำกับเวอร์ชั่นนี้ด้วยตัวเองเลยนะ) มันเป็นจังหวะแบบญี่ปุ่นๆ ที่มีเอกลักษณ์มาก ไหนจะการพูดทับซ้อนกันไปมาที่ดูสมจริงนั่นอีก แล้วพอมันเหวี่ยงอารมณ์กลับมาสู่ความเงียบเหงาในช่วงท้าย ก็โคตรดี!

ตื่นตะลึงกับทีมนักแสดงมาก ปรบมือให้กับ สุมณฑา สวนผลรัตน์ ในบทพี่สาวของครอบครัว เลือดเนื้อและชีวิตของผู้หญิงคนนี้มันน่าทึ่งมากเมื่ออยู่ในร่างนักแสดงอย่างนี้ และ วรัฏฐา ทองอยู่ ในตัวละครแบบเดิมๆ ที่เราเคยเห็นเธอแสดง ตัวละครภรรยาสาวคนนี้กลับดูมีอะไรมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายจอมขโมยซีนนั้นเรากรี๊ดกับการแสดงอันเป็นธรรมชาติของ ลลิตา ทับทอง ในบทน้องสาวคนสุดท้อง, เพียงดาว จริยะพันธุ์ ในบทภัณฑารักษ์, พัชราวรรณ เครือพันธ์ และกมลวสุธ์ จุติสมุทร ในบทสองสาวนักศึกษา, ธีระวัฒน์ มุลวิไล และดวงใจ หิรัญศรี คู่สามีภรรยาที่เราชอบมากกับความผ่อนคลายแบบที่ไม่ค่อยเห็นทั้งคู่แสดงแบบนี้ และ ศศิศวัท สุทธิเกษม ในบทครูสอนพิเศษ นี่หลงเสน่ห์เป็นการส่วนตัว!

ยังมีหลายประเด็นที่ตกค้างอยู่ในความคิดความรู้สึกของเรา ที่สุดแล้วมนุษย์เราก็ล้วนแต่มอง/ฟัง/เชื่อ แต่สิ่งที่ตัวเองพอใจ และบางทีเราก็ไม่อาจจะมองเห็น รับฟัง หรือเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั้งปวง ไม่ใช่แค่งานศิลปะภาพวาด การตีความงานของศิลปิน แต่รวมถึงเรื่องสังคม การเมือง ประเทศ หรือต่อให้เราเชื่อว่าจะมีใครสักคนใช้กล้องส่องมองพวกเรามาจากนอกจักรวาล ใครคนนั้นก็คงไม่สามารถมองเห็นหรือรับฟังพวกเราได้พร้อมกันทั้งหมดหรอก ก็เหมือนอย่างพวกเราที่นั่งดูละครตรงหน้านี่แหละ ใครบ้างจะจับตามองภาพกลุ่มตัวละครตรงหน้าและฟังพวกเค้าพูดพร้อมกันได้ทั้งหมดบ้าง

Image may contain: 1 person

มนต์แห่งจันทราจงสำแดงฤทธาณบัดนี้ (2017)

อย่างหนึ่งที่มั่นใจเมื่อเห็นชื่อผู้เขียนบทและผู้กำกับอย่าง ปานรัตน กริชชาญชัย พร้อมรายชื่อทีมนักแสดงใน “มนต์แห่งจันทราจงสำแดงฤทธาณบัดนี้” ก็คือมันต้องสนุก เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ และท่วมท้นด้วยพลังของนักแสดงแน่ แล้วก็ได้เกินที่หวัง มวลอารมณ์บางอย่างค่อยๆ ตกตะกอนช้าๆ ในความเหงา ความเศร้า และความรักอันเว้าแหว่ง มีความอบอุ่นและความสุขลอยคว้างอยู่ ...

3 กลุ่มตัวละครที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เดียวกัน พี่ผู้หญิงที่คว้าไมค์ในร้านคาราโอเกะมาพูดพร่ำคลายเหงา, อาจารย์หนุ่มกับเด็กหนุ่มที่พยายามจูนกันให้ติดหลังเสร็จกิจบนเตียง และบังขายโรตีผู้กำลังจะมีสัมพันธ์สวาทแบบตบจูบกับหญิงสาวนามสโรชา นี่คือ 3 กลุ่มตัวละครที่พูดพล่ามเรื่องราวที่ไม่น่าจะใช่เรื่องเดียวกัน แต่ก็ค่อยๆ หลอมรวมกลายเป็นเรื่องเดียวกันได้ในที่สุด ชอบการแสดงของ ฟารีดา จิราพันธุ์ มาก มาแบบน้อยๆ นิ่งๆ แต่กลับยิ่งใหญ่สะกดสายตาได้อยู่หมัด ยิงมาเถอะ กี่มุกเราก็ยินดีขำ, คู่ คอลิด มิดำ และ อาคีรา โหมดสกุล ก็ดีงามเหลือเกิน ทั้งจังหวะรั่วๆ หลุดๆ และจังหวะดราม่าเข้มข้น โคตรเดือด! และคู่ กฤษณะ พันธุ์เพ็ง กับ โอฬาร เกียรติสมพล ในความไม่ลงตัว (ตามที่ควรจะเป็นแบบนั้นตามบท) อึดอัดกระอักกระอ่วน กลับมีเคมีอะไรบางอย่างที่เราอยากให้มันเป็นไปได้

เหล่าตัวละครทำให้เราฉุกคิดได้ว่า ในขณะที่เรากำลังสอดส่องแอบมองชีวิตของใครคนอื่นอยู่ เราเองก็อาจจะกำลังถูกสอดส่องหรือกลายเป็นแรงบันดาลใจของใครอีกคนโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน เรื่องที่สั่นสะเทือนยิ่งกว่านั้นก็คือ ในความพยายามวาดฝัน กะเกณฑ์ สร้างทฤษฎี หรือครอบครองความรักของเหล่าตัวละคร มันช่างน่าสะท้อนใจที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรเป็นอย่างที่เราคิดฝันเอาไว้หรอก ไม่มีใครเป็นเจ้าของใคร ไม่มีอะไรเป็นอย่างที่นึกฝัน และมีเพียงตัวเราเท่านั้นที่ครอบครองได้แค่ความเหงา ถึงแม้ว่า เราจะไม่ใช่เจ้าของความเหงาเพียงคนเดียวก็ตาม ในเสียงเพลงเก่าแสนเหงา ในเสียงพูดพร่ำบ่นไปเรื่อย ในเสียงแผดดังกังวาน ในเสียงหัวเราะ ในบทวิเคราะห์วิจารณ์ มันอาจจะไม่สำคัญอะไรเลย เท่าความรู้สึกที่ผู้ชมแต่ละคนได้สัมผัส ... และสำหรับเรา มันโคตรดี!

Image may contain: 6 people, text

Teenage Wasteland : Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum (2017)

งานของกลุ่ม Splashing Theatre ทำให้เราขนลุกได้เสมอ และครั้งนี้สองผู้กำกับ ธนพนธ์ อัคควทัญญู และ ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี ก็ขยับมาตรฐานงานตัวเองขึ้นไปอีกขั้นกับ Teenage Wasteland : Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum ซึ่งยังคงมีเอกลักษณ์แบบเดิมๆ ของพวกเค้า ทั้งการเล่าเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ แบบที่คนดูอย่างเราๆ ต้องปะติดปะต่อภาพคอลลาจนี้เอง บรรยากาศลึกลับชวนพิศวง เจือด้วยกลิ่นอายโฮโมอีโรติก การพูดถึงวัยเยาว์ มิตรภาพ ความเจ็บปวด อุดมการณ์ และความลุ่มหลงในโลกอนาคต หุ่นยนต์ เสียงเพลง และภาพยนตร์ แต่ที่แตกต่างไปจากเดิมก็คือ ความซับซ้อนของเรื่องราว-เส้นเรื่อง งานโปรดักชั่นที่เหมือนจะใหญ่โตขึ้น และจำนวนนักแสดงที่เพิ่มมากขึ้น

เส้นเรื่อง 3 – 4 เรื่องถูกเล่าไปพร้อมกัน ผ่านกลุ่มตัวละครที่อยู่ในคนละยุคสมัย คนละสถานที่ แต่กลับมีอะไรบางอย่างร้อยรัดพวกเค้าไว้ด้วยกัน เรื่องราวของ “จิตร ภูมิศักดิ์” ถูกนำเสนอเป็นภาพเด็กหนุ่มที่มีอุดมการณ์แกร่งกล้าเกินวัย แต่อย่างไรก็ตาม เค้าก็เป็นเพียงเด็กหนุ่มวัยรุ่น, เรื่องราวของกลุ่มเพื่อนที่ชวนกันเล่นเกมสวมบทบาทเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำที่หายไป, เรื่องราวของเพื่อนรักสองคนในโลกอนาคตที่ต้องต่อสู้กันเอง และเรื่องราวเด็กหนุ่มผู้กำลังพยายามทำละครสื่อผสมเกี่ยวกับจิตร

ในบรรดาเรื่องราวทั้งหมด แน่นอนว่า เรื่องของจิตรดูจะแตะต้องสัมผัสโดนหัวใจเราได้มากที่สุด เพราะนอกจากมันจะเป็นเรื่องของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงแล้ว ในฐานะคนที่อ่านงานของจิตรและชื่นชมตัวเค้ามาก เราก็ดีใจเหลือเกินที่ยังมีคนสนใจในตัวตนของเค้าและพยายามถ่ายทอดออกมาแบบที่เค้าเป็นมนุษย์ปุถุชนจริงๆ กระนั้น ฉากที่ทำให้เรานั่งน้ำตาไหลอาบหน้ากลับเป็นฉากที่ตัวละครของ “วสุ วรรลยางกูร” นั่งร้องไห้สะอึกสะอื้นจากการถูกทำร้าย ช่วงเวลาแค่ไม่กี่วินาทีที่ตัวละครเริ่มต้นสะอื้น เราก็สัมผัสได้ถึงความหวาดกลัว เจ็บปวด ทรมาน และคลั่งแค้นของตัวละครได้แล้ว เป็นช่วงเวลามหัศจรรย์ที่เราทั้งโอบกอดตัวละครและตกหลุมรักการแสดงของเค้า ชอบที่ Teenage Wasteland สร้างให้ทุกเส้นเรื่องว่าด้วยการสร้างมิตรภาพและการสูญเสียมิตรภาพ บางทีสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดในการเติบโตก็คือการได้รู้ว่า บ่อยครั้งที่มิตรภาพความเป็นเพื่อนมันพังทลายลงด้วยน้ำมือของเราเอง ชอบการลบเลือนเส้นแห่งความจริง-ความฝัน-การแสดงของเรื่องราวตรงหน้า และชอบที่ผู้กำกับใช้งานนักแสดงที่มีอยู่ไม่ใช่น้อยได้คุ้มค่าทุกคนเลย

สัมผัสได้ถึงพลังอันพลุ่งพล่านของคนหนุ่มสาว ทั้งจากตัวละคร นักแสดง และเรื่องราว สัมผัสได้ถึงอุดมการณ์อันแสนบริสุทธิ์ แต่ก็มีความหม่นหมอง เพื่อพวกเค้าก็รู้ดีว่าประวัติศาสตร์มันย่อมซ้ำรอยอยู่เสมอ และพวกเค้าก็มักจะเป็นผู้พ่ายแพ้ สัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดของวัยเยาว์ ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ไม่ได้เจ็บปวดมากไปกว่าวัยรุ่นอย่างพวกเค้าหรอก และในวันที่พลังงาน ความเชื่อ และอุดมการณ์ในการใช้ชีวิตเราหล่นหายไป การได้มานั่งดื่มกินพลังเหล่านี้ตรงหน้า มันก็ช่างชุ่มชื่นหัวใจดีจริงๆ

Image may contain: 1 person

Thou Shalt Sing : A Secondary Killer's Guide to Pull the Trigger (2017)

งานของ “เฟิร์ส – ธนพนธ์ อัคควทัญญู” มีมวลบรรยากาศน่าพิศวงเกิดขึ้นอยู่เสมอ และต้องใส่หมายเหตุเสียแต่ตรงนี้ว่า The Disappearance of the Boy on a Sunday Afternoon “การหายตัวไปของเด็กชายในบ่ายวันอาทิตย์” งานในปีที่แล้วของเค้านั้น ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งในปีที่ผ่านมาของเราเลยเชียวนะ! และไม่ผิดไปจากที่คาดไว้ Thou Shalt Sing : A Secondary Killer's Guide to Pull the Trigger (หรือที่ใครๆ ก็เรียกกันย่อๆ ง่ายๆ ว่า “ตาว แชว ซิง”) ก็มีบรรยากาศแสนพิเศษเป็นของตัวเอง ไม่ได้ดูง่าย แต่ก็ยากที่จะสลัดออกจากหัว! . เราค่อยๆ ได้ทำความรู้จักกับโลกของนักฆ่าที่มีกฎระเบียบธรรมเนียมปฏิบัติ และตัวละครที่เต็มไปด้วยบาดแผล ความทรงจำ และเบื้องลึกเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็น “นักฆ่าหมายเลขสอง” ผู้เคร่งขรึมและเป็นที่สองตลอดกาล, “เด็กน้อย” ผู้ช่วยที่มีความหวังและความฝันจะเป็นนักฆ่ากับเค้าสักวัน, “พี่ชาย” ของเด็กน้อยที่สายสัมพันธ์ระหว่างกันนั้นไม่ค่อยดีนัก, “หญิงสาว” นักพนันผู้ลึกลับ และ “นักฆ่าหมายเลขหนึ่ง” ที่ร่ำลือว่าเค้าตายไปแล้ว หรือเค้ายังมีตัวตนอยู่กันแน่นะ

Thou Shalt Sing ทำให้เราคิดถึงงานวรรณกรรมยุคเก่า สำนวนภาษาที่ตัวละครพูดคุยกันนั้น ราวกับหลุดมาจากหนังสือเล่มเก่ากรอบ และยากที่จะระบุชี้ชัดลงไปด้วยซ้ำว่า มันคือนวนิยายไทยจากยุคแสวงหาเสรีภาพ หรือมันคือนวนิยายแปลจากฝรั่งฝั่งยุโรป ขณะเดียวกันมันก็มีกลิ่นอายหนังแก๊งสเตอร์ (อเมริกันผสมผเสกับฮ่องกง) หนังฟิล์มนัวร์ตัวละครเลว และอีกแล้ว ... แสงสี ตัวละคร ปมในใจ และบทสนทนา เราคิดถึงหนังของหว่องกาไว นั่งซี๊ดปากกับบทสนทนาคมคายและเจ็บปวด นั่งขนลุกเมื่อตัวละครเผยความลับสำคัญ และแค่การปรากฏตัวของ “นักฆ่าหมายเลขหนึ่ง” เราก็เกร็งตัวและสัมผัสได้ถึงพลังงานบางอย่างของตัวละครทันที จู่ๆ อะไรที่ดูซับซ้อนยุ่งเหยิงอยู่แล้วก็ถูกขมวดเข้าหากันแน่นขึ้น แต่พร้อมกันนั้นมันก็มีภาพบางอย่างชัดเจนขึ้นด้วย ... มีหลายฉากที่ชอบมาก แน่นอน ฉากตัวละครค่อยๆ จัดจานจัดโต๊ะ คีบตะเกียงตักซาซิมิเข้าปากนั้น กลายเป็นภาพจำของละครไปอย่างช่วยไม่ได้ แต่ฉากที่สองนักฆ่าใกล้ชิดกันนั่นเล่า มันกลายเป็นภาพแทนความทรงจำอันเจ็บปวดและหล่อเลี้ยงตัวละครอยู่เกือบตลอดทั้งเรื่องไม่ใช่หรือ
No automatic alt text available.

Private Conversation : A Farewell To Love Of Siam (2017)

รักแห่งสยาม หนึ่งในภาพยนตร์เรื่องโปรดตลอดกาลของใครหลายคน (รวมถึงตัวเราด้วย) ปีนี้จะมีอายุครบ 10 ปีแล้ว และในโอกาสที่ควรจะต้องเฉลิมฉลอง “พิช - วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล” กลับเลือกจัดการแสดงเดี่ยว เพื่อบอกลารักแห่งสยาม ผลงานที่กลายเป็นตราประทับติดตัวเค้ามาตลอด 10 ปี . ด้วยพื้นที่ ห้องเรียนเก่า บนชั้นสองของอาคารเก่าๆ ที่ตอนนี้เป็นพื้นที่จัดงาน Free Form Festival 2017 เราเหมือนถูกดึงเข้าไปในโลกอีกใบ โลกที่มี “มิว” จากรักแห่งสยามนั่งคงนั่งอาลัยอาวรณ์อยู่กับจมูกไม้ของตุ๊กตาแห่งความทรงจำ แล้วเราก็ได้นั่งฟังบทสนทนาแสนส่วนตัวระหว่าง “มิว” กับ “พิช” แม้ว่าชีวิตของมิวจะไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย ราวกับว่าเค้ายังวิ่งวนอยู่ในโลกรักแห่งสยามเช่นเดิมเสมอมา แต่ชีวิตของพิชที่เติบโตขึ้นนี่สิ มันน่าสนใจเหลือเกิน ชอบไอเดียในการให้ตัวละครมานั่งโต้ตอบกันแบบนี้มาก ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องใหม่ และการเล่นเดี่ยวกับตัวละครในอากาศแบบนี้ พิชก็เคยใช้มาแล้วเมื่อคราว Cocktails The Musical แต่พอมันมีการต้องสวมบทบาทสองพาร์ตเกิดขึ้นแล้วพิชทำได้ดี จังหวะพอเหมาะ และมีความกวนตีน มันก็กลายเป็นเรื่องที่ต้องหยักหน้ายิ้มให้ด้วยความชื่นชม!

พิชออกตัวตั้งแต่แรกแล้วว่า นี่อาจจะเป็นการแสดงที่ดับฝันใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่รัก “รักแห่งสยาม” มาก เพราะพิชได้เปิดเปลือยทุกความรู้สึกที่มีต่อมันอย่างหมดเปลือก ทั้งความรัก การขอบคุณ ความฝัน ความหวัง ความหงุดหงิด รำคาญ ความผิดหวัง รวมถึงความพยายามดิ้นรนออกจากมัน สำหรับใครที่ยังคงมองเห็นพิช เป็น “พิช รักแห่งสยาม” อยู่ ก็อาจจะช็อก แต่สำหรับเราที่เห็นความพยายามในการเป็นศิลปินนักแสดงในงานที่หลากหลายมาตลอดหลายปี เราไม่ได้มอง พิช เป็น มิว หรือ พิช รักแห่งสยาม มาตั้งนานแล้ว ... แต่ก็นั่นแหละ มันก็เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจอยู่ดี เมื่อได้เห็นการร่ำลาระหว่างพิชกับมิวอย่างเป็นทางการแบบนี้

Private Conversation : A Farewell To Love Of Siam ทำให้เรามองย้อนกลับไปยังตัวเองเมื่อสิบปีก่อน เราเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน เราเป็นใครในวันนี้ ไม่แค่นั้น มันทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองด้วยเหมือนกันว่า แล้วเราล่ะ สลัด “ชื่อต่อท้าย” ที่เรารักมาก ผูกพันมาก และติดตัวอยู่มาหลายปีออกไปได้แล้วหรือยัง ...

No automatic alt text available.

ฤายังจะนกแม้โลกจะสลาย: Single ladies ‘til the world ends (2017)

ถึงจะเป็นแฟนคลับที่ติดตามผลงานของ “ออม - ปัถวี เทพไกรวัล” อยู่เสมอ แต่ก็ต้องบอกตรงๆ ว่า เรามีความรู้สึกกลัวและเกร็งกับการได้สัมผัสตัวตนของออมในงานทุกครั้ง เพราะในความเกรี้ยวกราด ดุดัน เต็มไปด้วยพลังงานล้นเหลือนั้น มันมักจะมีด้านมืดหม่น และดื้อรั้นแบบศิลปินตัวจริงแผ่ซ่านออกมาในทุกชิ้นงาน เช่นเดียวกับผลงานชิ้นนี้ “ฤายังจะนกแม้โลกจะสลาย: Single ladies ‘til the world ends” บนฉากหน้าของการเป็นบทละครมิวสิคัลร้อง เล่น เต้นระบำวายป่วง มันก็มีความจิกกัด เสียดสี ยั่วล้อ ไปจนถึงตีแสกหน้าสังคม การเมือง และผู้ชมอย่างเราๆ อยู่ด้วย กับเรื่องราวในโลกอนาคต เมื่อโลกกำลังล่มสลายและมวลมนุษย์กำลังจะสูญพันธุ์ไปจากโลก “มิสคาร์เตอร์” คือกะเทยผู้รอดหนึ่งเดียวที่อาศัยอยู่ในชุมชนซึ่งดูแลโดยระบบปฏิบัติการ “น้อง” เธอดิ้นรนอยู่ไปวันๆ อย่างเปล่าดาย โดยมีเทพบูชาคือดีว่าสาว Beyonce จนกระทั่งมีใครคนหนึ่งปรากฏกายขึ้นในฐานะผู้รอดชีวิตอีกคน มันคงจะดี ถ้าใครคนนั้นไม่ได้เป็นทอม ผู้คลั่งไคล้ Taylor Swift และแหกปากร้องเพลง “หนึ่งเดียวคนนี้” ของพี่ปุ๊ อัญชลี เรื่องน่าสนใจก็คือ เมื่อการปะทะกันระหว่างเพศ “ทอมกับกะเทย” เรียกเสียงหัวเราะเราได้มากแค่ไหน พอถึงฉากที่ความรุนแรง กดดัน และบีบคั้นทวีความหนักหน่วงขึ้น มันก็บีบหัวใจเรามากขึ้นไปเท่านั้น . ไม่มีข้อกังขาใดกับพลังของออม แม้จะมีบางช่วงบางตอนที่อาการเหนื่อยหอบ และเสียงจะสู้เครื่องดนตรีเล่นสดไม่ได้ แต่ความเพี้ยนคลั่งของตัวละครไม่ได้ลดลงเลย เซอร์ไพรส์กับการปรากฏตัวของ “ฉัตราภรณ์ ภักดี” ในบททอมผู้รอด ชอบคาแร็คเตอร์เท่ๆ ห่ามๆ และเสียงร้องที่สู้กับออมได้สบายๆ มาก ในความต่างของจังหวะ คาแร็คเตอร์ และพลัง มันกลายเป็นการส่งเสริมให้ความต่างของตัวละครชัดเจนดี

กระนั้น การที่เราได้ดูรอบแรก มันก็ยังมีบางช่วงบางตอนที่เรารู้สึกว่า มันเร่งบีทการเล่าเรื่องมากไปนิด ซึ่งคิดว่าในรอบต่อๆ มา น่าจะคมและคุมจังหวะได้ดียิ่งๆ ขึ้น นอกจากนี้เรายังแอบรู้สึกว่า ประเด็นที่ “ฤายังจะนกแม้โลกจะสลาย: Single ladies ‘til the world ends” หยิบจับมาเล่นมันตรงไปตรงมามากไปสักหน่อย และยังมีช่องโหว่ให้คนคิดต่างโจมตีได้อยู่ดีนั่นเอง

Image may contain: 3 people, text

21 3/4 (2017)

สัมผัสได้ถึงความบริสุทธิ์ของพลังไฟฝันในตัวเด็กๆ ที่สร้างงานชิ้นนี้ขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังนั่งดูงานละครธีสิสของเด็กนักศึกษา บางทีอาจเป็นเพราะเรื่องที่เล่าและการเลือกจบด้วยมุมมองแง่บวกสดใสแบบนั้นด้วยกระมัง ... เรื่องราวของกลุ่มเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาววัยกำลังเรียนจบมหา’ลัย ที่บ้างก็กำลังค้นหาตัวตนของตัวเอง บ้างกำลังต้องเลือกทางเดินชีวิต บ้างก็กำลังสนุกหรือทุกข์กับความรัก ทำให้เราย้อนคิดถึงตัวเองตอนอายุ 21 ย่าง 22 หรือในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตอยู่บ้างเหมือนกัน ก็มันเป็นช่วงเวลาที่คงไม่มีใครลืมได้ลงหรอก ... จริงมั้ย

21 3/4 เลือกเล่าเรื่องด้วยบทเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด (และแสดงโดยใช้วงเล่นสด!) ซึ่งเพราะมาก ติดหูมาก และเล่าเรื่องได้ดีมาก กระนั้น การเลือกให้ตัวละครหรือนักแสดงรับผิดชอบแต่ละเพลงสลับกันไปมา และไม่ได้ร้อยแต่ละเพลงเข้าด้วยกันอย่างแนบสนิท กลับไฟหรี่ลง เปลี่ยนฉาก แล้วเริ่มใหม่ในแต่ละเพลง ก็ทำให้อารมณ์ในการชมมิวสิคัลสะดุด และรู้สึกคล้ายนั่งดูมินิคอนเสิร์ตไปเสียอย่างนั้น ความดีงามที่คงไม่มีใครกล้าเถียงก็คือ ทีมนักแสดงทั้ง 4 จาก Fascinating Four (ผู้เข้าประกวด Thailand’s Got Talent ซีซั่น 6) ยิ่งพอได้เห็นคาแร็คเตอร์ที่หลากหลายในแต่ละเพลงของแต่ละคน ก็ยิ่งเพิ่มพูนเสน่ห์ให้พวกเค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ชอบฉากที่ตัวละครชายทั้งสองตัวพูดถึงความรักของตัวเอง (ฉากหนึ่งคือการปะทะกันในเรื่องความฝันที่ลงเอยด้วยการปลอบประโลมระหว่างพี่ชายกับน้องชายที่ความเป็นเกย์ของตัวละครดูเบาบางและแนบเนียน อีกฉากหนึ่งคือการเปิดเผยอารมณ์ของการตกอยู่ในเงามืดของความรัก ที่เขาเก็บเราไว้เป็นความลับได้น่าสะเทือนใจ) เช่นเดียวกับที่ชอบฉากที่ตัวละครหญิงเผชิญทุกข์หนัก (แต่คนดูฮาครืน) จากเซ็กส์ชั่วข้ามคืน แต่ฉากที่ทำให้เรานั่งน้ำตาไหลแบบไม่รู้ตัว คือฉากง่ายๆ ที่ตัวละครหญิงอีกตัวเก็บข้าวของย้ายจากหอพักและต้องแยกจากคนรักเพราะเรียนจบ นี่ก็ยังแปลกใจตัวเองว่า ทำไมอยู่ๆ ถึงอิน!

Image may contain: 15 people, people smiling, text

ราตรีที่สิบสอง หรือเอาที่สบายใจ Twelfth Night or What You Will (2017)

บทละครสุขนาฏกรรมของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ ชิ้นนี้ ถูก “ดารกา วงศ์ศิริ” นำมาแปลและดัดแปลงให้เป็นบทละครแสนหรรษาที่ยังมีความเป็นเชคสเปียร์เต็มเปี่ยม แม้ว่าทีมงานและนักแสดงทั้งหมดจะเป็นคนไทยก็ตาม กับเรื่องราวชวนหัวเมื่อ “เด็กสาว” ต้องปลอมตัวเป็นเด็กหนุ่มไปทำงานรับใช้ “เจ้าชายหนุ่ม” ผู้หลงรัก “คุณหญิง” ผู้สูงศักดิ์ แต่แล้วกลายเป็นว่าคุณหญิงกลับหลงรักเด็กหนุ่ม (หรือที่จริงก็คือเด็กสาวไปเสียแทน) ในขณะที่เด็กหนุ่มหรือเด็กสาวนั้นก็หลงรักเจ้าชายอีกที แถมยังมีเรื่องชุลมุนจากการกลั่นแกล้งชิงไหวชิงพริบของตัวละครอื่นๆ จนอีรุงตุงนังไปหมด เหมือนเรื่องจะซับซ้อน แต่บทละครนั้นเล่าให้เข้าใจง่ายมาก และบางทีก็ง่ายเกินไป บอกตรงๆ ว่าเราออกจะรำคาญความเอ้อระเหย ยืดยาด และพิรี้พิไรอยู่ประมาณนึง แต่สิ่งที่พอจะชดเชยได้บ้างก็คือความคมคายของตัวบทดั้งเดิมที่ถูกแปลแบบยังคงความตามเดิมอย่างครบถ้วนดี รู้เลยว่ามันมีความยากในการแปล “คำ” และ “ความ” อยู่มาก ซึ่งพอคนแปลทำงานของตัวเองได้ดี มันก็เป็นเรื่องเพลิดเพลินสำหรับเรามาก บทสนทนาต่างๆ เต็มไปด้วยเรื่องน่าคิด น่าชื่นชม จนนั่งตบเข่าฉาดแล้วฉาดเล่า

ทีมนักแสดงของ “ราตรีที่สิบสอง หรือเอาที่สบายใจ” คือทีมเวิร์กที่ดีงาม ตัวบทมันค่อนข้างยากนะ ต่อให้มีการปรับบทให้ง่ายขึ้นแล้ว คือไม่ได้มัศัพท์แสงลิเก (ฝรั่ง) มาก แต่คำมันก็ยากอยู่ดี ปลื้ม “ดีใจ ดีดีดี” (ผัดไทย), “ดารัณ ฐิตะกวิน” (รุ้งทอง ร่วมทอง) และ “กนกวรรณ บุรานนท์” มากเป็นพิเศษ ส่วน “นิศาชล สิ่วไธสง” (เนสท์ AF9) เราชอบตอนที่เธอปลอมตัวเป็นเด็กหนุ่มมากกว่าตอนที่แต่งตัวเป็นหญิงสาว และ “วรวุฒิ นิยมทรัพย์” นี่ปลื้มส่วนตัว พี่โอ๊ตเล่นได้น่ารักมาก #รัก . ชอบมากเป็นพิเศษกับการเล่นประเด็น “คนโง่” และ “คนบ้า” ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเรื่อง และเป็นเรื่องดีงามมากที่ในที่สุด คนที่เคยถูกตราหน้าว่าทั้งบ้าและทั้งโง่ กลับลอยตัวสบายใจเฉิบ นี่สิที่เค้าเรียกว่า “อยู่เป็น” และน่าสนใจมากเหลือเกินที่คนที่ปราศจากซึ่งความรักคนนี้ เป็นคนเดียวที่ไม่ตกหลุมพรางของความโง่ คล้ายกับเชคสเปียร์จะบอกเราว่า ความรักนี่แหละต้นเหตุของความโง่!