• @TOM NEWS
  • Jan 2020

ออร์แลนโด ชีวประวัติ : นวนิยายแห่งการข้ามเพศ

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
แค่สองหน้าแรก เราก็เข้าใจแล้วว่า ทำไม Virginia Woolf จึงเป็นนักเขียนคนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์วรรณกรรม ภาษาอันเต็มไปด้วยพละกำลัง พลุ่งพล่าน ไหลเชี่ยวกราก นี่สินะ รูปแบบของวรรณกรรมกระแสสำนึกอันลือเลื่อง แล้วยิ่งอ่านไป...อ่านไปก็ยิ่งทึ่งกับคลื่นแห่งภาษาที่ไม่ได้มีทีท่าลดกำลังลงเลย มากไปกว่านั้น เรื่องราวของ “ออร์แลนโด: ชีวประวัติ” ยังทะเยอทะยาน เฉียบคม ลุ่มลึก ล้ำสมัย และสนุกมาก ถึงเราจะต้องอ่านๆ หยุดๆ ด้วยความเหนื่อยล้าของการตามจับทั้งภาษาและเรื่องราว ซึ่งบ้างก็คลืนคลานอย่างเชื่องช้า หมุนวนอยู่ภายในห้วงความคิดของตัวละคร บ้างก็หุนหันมุ่งหน้ากระโจนข้ามไปรวดเร็วจนเราต้องวนกลับไปอ่านย่อหน้านั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

ว่ากันด้วยการเป็นหนังสือ “ชีวประวัติ” ที่ว่ากันว่า Virginia Woolf ตั้งใจยั่วล้อเล่นสนุกกับประเภทของหนังสือชีวประวัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่บิดาของเธอเป็นบรรณาธิการคนแรกของ Dictionary of National Biography ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1885 โดยไม่มีประวัติของผู้หญิงคนสำคัญในแวดวงไหนเลยสักคนเดียว นั่นทำให้เรื่องราวของออร์แลนโดฉีกกฎทุกสิ่งอย่างของการเป็นหนังสือชีวประวัติ! ก็นักเขียนหนังสือชีวประวัติคนไหนกันเล่าจะไปเข้าอกเข้าใจทุกความรู้สึกนึกคิดของเจ้าของต้นเรื่องขนาดนี้ แล้วใครกันเล่าจะมีอายุยาวนานเกือบ 400 ปีแบบออร์แลนโด แล้วใครกันอีกเล่าที่อยู่ๆ ก็หลับไปหลายราตรี เพื่อที่จะฟื้นขึ้นมาอีกครั้งแล้วพบว่าตัวเองได้กลายร่างจากชายเป็นหญิงไปเสียแล้ว!

อันที่จริงเรารู้จักกับหนังสือเล่มนี้ในฐานะวรรณกรรมต้องอ่าน และการถูกแปะป้ายประทับตราไว้ว่ามันคือวรรณกรรมที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อสังคม LGBT ดังนั้น เราจึงรู้อยู่แล้วว่าเหตุพลิกผันสำคัญของเรื่องก็คือการที่ออร์แลนโดจะกลายร่างจากชายกลายเป็นหญิง แต่ Virginia Woolf ก็ยังทำให้เราเซอร์ไพรส์แล้วเซอร์ไพรส์อีก เพราะ Orlando: A Biography “ออร์แลนโด: ชีวประวัติ” ไม่ได้เล่นยั่วล้อกับประเด็นความเหลื่อมล้ำ กรอบกำหนด ภาวะความคิดในใจของเพศชายและเพศหญิงเพียงเท่านั้น แต่เรายังเทียบเคียงหลากบทหลายตอนกับความเป็นเกย์ ความเป็นเลสฯ ความเป็นไบฯ ไปจนถึงการข้ามเพศ

และที่ทำให้เราตื่นตะลึงพรึงเพริด เพราะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดคิดก็คือ การพูดถึงภาวะภายในจิตใจของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัยได้สมจริง คมคาย และดำดิ่งอยู่ในกระแสจิตสำนึกส่วนลึก แน่นอน ที่เราปลื้มมากก็เพราะสิ่งที่อยู่ในห้วงความคิดของออร์แลนโดนั้นช่างเหมือนกับสิ่งที่เราคิด ตั้งคำถาม และรู้สึกมาแล้วในช่วงวัยต่างๆ ตั้งแต่วัยหนุ่มที่เริ่มค้นหาตัวเอง ตกอยู่ในบ่วงอารมณ์ปรารถนาแห่งรัก การรับมือกับความผิดหวังทั้งจากความรัก หน้าที่การงาน (ในที่นี้หมายถึงงานเขียน) การตกอยู่ในห้วงเพ้อฝันของอุดมการณ์ แสวงหาความจริงจากความใกล้ชิดในธรรมชาติ เพลิดเพลินกับวงสังคมมนุษย์ เบื่อหน่ายขยะแขยงกับการเสวนาร่วมโต๊ะกับมนุษย์ ตื่นรู้เบิกบานกับช่วงวัยผู้ใหญ่ ทว่าก็ได้พบว่าตนเองช่างโง่เขลา ไม่ได้เข้าใจแก่นแท้ของอะไรเลย และมีเพียงความเลอะเลือน ติดกับดักของยุคสมัย

การตั้งคำถามถึงการมีชีวิต ความรัก และความตายก็เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงตัวตนของ Virginia Woolf ได้ดีเหลือเกิน และใช่ มันก็เป็นอีกสิ่งที่เราชอบมาก จนหวาดหวั่นว่าเราใคร่ครวญถึงความตายในรูปแบบเดียวกับเธอหรือเปล่านะ?