• @TOM NEWS
  • Jan 2022

10 อันดับซีรีส์ฮิตตรงจริต LGBTQ ประจำปี 2022

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง

ปีนี้เราชวนเพจ ชีวิตผมก็เหมือนหนัง มาเลือกซีรีส์ฮิตตรงจริตชาว LGBTQ+ ในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งหมวด นอกจากหนังสือและหนังแล้ว โดยก็ต้องอธิบายก่อนว่า ซีรีส์บางเรื่องได้ออกฉายก่อนหน้าปี 2021 แล้ว เพียงแต่คุณชีวิตผมก็เหมือนหนังเค้าเพิ่งได้มีโอกาสได้ดู และอยากพูดถึงจริงๆ


What Did you Eat Yesterday? (2019)

จากบทสนทนาถามไถ่กันในที่ทำงานว่า เมื่อวานนี้กินอะไรเป็นอาหารเย็น? กลายมาเป็นการตามดูชีวิตคู่ที่อบอวลไปด้วยความรัก ความปรารถนาดี และอาหารร้อนๆ หลากหลายเมนูของ “ชิโร่ คาเคย์” ทนายความหนุ่มใหญ่ผู้เงียบขรึมที่ทำหน้าที่พ่อครัวปรุงอาหารทำกับข้าวประจำบ้าน กับ “ยาบุกิ เคนจิ” ช่างตัดผมหนุ่มใหญ่ร่าเริงอารมณ์ดี (สลับกับอาการวิตกจริตเกินเหตุในบางครั้ง) ที่มักจะร้อง “อร่อยยยยยย” ทุกครั้งที่ได้กินอาหารฝีมือของชิโร่ซัง


Cherry Magic! Thirty Years of Virginity Can Make You a Wizard?! (2020)

Cherry Magic! “ถ้า 30 ยังซิง! จะมีพลังวิเศษ” สร้างจากมังงะสุดฮิตของ ยู โทโยตะ เล่าเรื่องของ “อาดาจิ” หนุ่มออฟฟิศธรรมดาๆ ผู้ไร้ความมั่นใจและไร้คนสนใจ ที่ดันมีพลังวิเศษ สามารถอ่านใจได้ยินความคิดของคนที่เขาสัมผัสโดนตัว เหตุเพราะเค้ายังครองความซิงอยู่จนถึงอายุ 30 ตามชื่อเรื่องนั่นเอง! พีคไปกว่านั้นคือเค้าบังเอิญไปสัมผัสโดนตัว “คุโรซาวะ” หนุ่มป๊อปประจำออฟฟิศที่เพอร์เฟ็กต์ไปทุกเสียอย่าง แล้วได้รู้ว่าคุโรซาวะนั้นแอบชอบตัวเค้ามานานแล้ว! และความสัมพันธ์ของพวกเค้าก็พัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะพื้นฐานความเป็นคนจิตใจดีของทั้งคู่นี่แหละ


Pornographer Indigo (Indigo No kibun) (2019)

มินิซีรี่ส์ตอนต่อของ Pornographer ที่ย้อนไปเล่าเรื่องก่อนที่ “คิจิมะ ริโอะ” จะกลายเป็นนักเขียนนิยายอีโรติก กับความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างเค้าและ “คิโด้” เพื่อนสมัยเรียนที่กลับมาเจอกันอีกครั้งในงานศพของอาจารย์ แล้วในช่วงเวลาแย่ๆ ที่คิจิมะเพิ่งมีปัญหากับสำนักพิมพ์เก่า นักเขียนนวนิยายระดับรางวัลอย่างเค้าจึงอยู่ในภาวะถังแตก ส่วนคิโด้ก็กลายเป็นมนุษย์ไร้บ้าน เพราะถูกไล่ออกจากห้องของแฟนสาวที่เลิกกัน เพียงเพราะครอบครัวเธอไม่ชอบงานบรรณาธิการต้นฉบับนิยายอีโรติกชั้นต่ำที่เค้าทำงานอยู่ จากจุดนั้นเอง ที่คิจิมะชวนคิโด้มาอยู่ด้วยกันกับเค้า แล้วคิโด้ก็เสนอให้คิจิมะลองเขียนนิยายอีโรติกเพื่อยังชีพ ทว่ามันไม่ใช่งานง่ายๆ สำหรับคิจิมะเลย เพราะเค้าไม่เคยมีประสบการณ์ทางเพศกับผู้หญิงเลยน่ะสิ


Move To Heaven (2021)

ฮันกือรู เด็กหนุ่มผู้มีอาการแอสเพอร์เกอร์ (เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการ PDDs - Pervasive Developmental Disorders หรือความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน ซึ่งก่อให้เกิดพัฒนาการทางด้านความสัมพันธ์ทางสังคมและการสื่อสารไม่เป็นไปตามปกติ มีพฤติกรรม ความสนใจ และกิจกรรมที่ผิดไปจากปกติ) ใช้ชีวิตอยู่กับคุณพ่อซึ่งเปิด Move To Heaven บริษัทรับเก็บกวาดจัดการบ้านของผู้เสียชีวิต ทว่าเมื่อพ่อของกือรูจากไปอย่างกะทันหัน เขาจึงต้องปรับตัวใช้ชีวิตใหม่ร่วมกับคุณอาที่อยู่ๆ ก็โผล่มาในฐานะผู้ปกครอง และต้องทำงานร่วมกันที่ Move To Heaven ต่อไป พร้อมๆ กับไขปริศนาของผู้เสียชีวิตหลากหลายราย และค้นพบความลับในชีวิตสองอาหลานโดยไม่ตั้งใจ


Midnight Diner: Tokyo Stories {Season 1} (2016)

Midnight Diner “ร้านอาหารเที่ยงคืน” สร้างจากการ์ตูนมังงะชื่อดังของญี่ปุ่น กับเรื่องราวของเหล่าลูกค้าที่แวะเวียนมายังร้านอาหารเล็กๆ ในย่านชิจุกุ ซึ่งจะเปิดร้านตอนเที่ยงคืนแล้วปิดร้านตอนเจ็ดโมงเช้า โดยลูกค้าแต่ละคนต่างก็หอบหิ้วเอาเรื่องราวชีวิตของตัวเองเข้ามาด้วย และโดยไม่รู้ตัว อาหารที่ทำง่ายๆ โดยคุณเจ้าของร้านมาดโหดก็ช่วยบำบัดทั้งความหิวและความทุกข์ของพวกเค้าไปพร้อมกัน


นิทานพันดาว (2021)

รื่องราวของ “เธียร” คุณหนูไฮโซที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจาก “ทอฝัน” ครูอาสาสาวผู้ประสบอุบัติเหตุรถชนเสียชีวิต จนทำให้เค้าเริ่มมองเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่อีกครั้ง และตัดสินใจเดินทางไปผาปันดาวเพื่อทำหน้าที่เป็นครูอาสาเหมือนกับทอฝัน แต่เค้าไม่รู้เลยว่า หมู่บ้านผาปันดาวและ “หัวหน้าภูผา” เจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้มีหน้าที่ดูแลเค้าจะทำให้หัวใจของเค้าหวั่นไหวไปด้วย


พฤติการณ์ที่ตาย (Manner of Death) (2020)

หลังจากเดินทางกลับมาเป็นคุณหมอแผนกนิติเวชที่บ้านเกิด ณ เวียงผาหมอกได้ไม่นาน “หมอบรรณ” ก็ต้องทำหน้าที่ชันสูตรศพเพื่อนสมัยเรียนมัธยมฯ แล้วพบว่า เจนจิรา เสียชีวิตจากการฆาตกรรม ไม่ใช่การฆ่าตัวตายอย่างที่ถูกจัดฉาก แล้วจากตรงนั้น มันก็ทำให้เค้าต้องไปพัวพันกับการข่มขู่คุกคามจากชายชุดดำลึกลับ และผู้คนรายล้อมคดีอีกมากมาย โดยเฉพาะ “ครูแทน” ชายหนุ่มผู้พบศพของเจนจิราเป็นคนแรก ที่ไม่อาจทำใจเชื่อได้ว่า เขาจะไม่มีส่วนรู้เห็นกับคดีฆาตกรรมนี้


The Queen's Gambit (2020)

Beth Harmon เด็กหญิงที่ค้นพบว่าตนเองเป็นอัจฉริยะหมากรุกจากการสอนของภารโรงในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า สู่การเป็นนักหมากรุกอาชีพที่เดินทางไปทั่วเพื่อฟาดฟันกับพวกนักหมากรุกทั้งหลาย ในยุคที่กีฬาหมากรุกยึดครองด้วยนักเล่นผู้ชาย และไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิงเลย (และในโลกของความเป็นจริง มันก็ยังเป็นพื้นที่ของผู้ชายอยู่จนถึงวันนี้ - The Queen's Gambit สร้างจากนวนิยายของ Walter Tevis ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1983) แต่ความสนุกของเรื่องราวไม่ได้อยู่แค่เฉพาะโลกของหมากรุกเท่านั้น แต่การเฝ้ามองดูการเติบโตของ Beth ผ่านคืนวันต่างๆ ที่ผันผวน มันก็ชวนให้เอาใจช่วยพอๆ กับหมากบนกระดานของเธอนั่นแหละ


Izakaya Bottakuri (2018)

เรื่องราวของสองพี่น้องที่สืบทอดกิจการร้านอาหารสไตล์อิซากายะต่อจากพ่อแม่ และแม้ว่าชื่อร้านจะชวนให้อึดอัดใจ (Bottakuri แปลว่า ขูดเลือดขูดเนื้อ) แต่พวกเธอก็มีลูกค้าประจำอยู่มากมาย และในขณะที่ “มิเนะ” พี่สาวคนโตผู้รับหน้าที่แม่ครัวประจำร้านพยายามสรรหาเมนูพิเศษมาเสิร์ฟให้ลูกค้า เมนูและลูกค้าเหล่านั้นก็สอนให้พวกเธอทั้งสองคนเติบโตไปพร้อมกันด้วย


Halston (2021)

ในพล็อตที่เหมือนจะเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีกกับชีวิตเกย์คนดังในยุค 80 ทั้งชีวิตครอบครัวที่เต็มไปด้วยบาดแผล, ปมในใจที่ผลักดันให้ประสบความสำเร็จ, ผลงานที่กลายเป็นตำนานของวงการ, ชีวิตรักและเซ็กส์ดุเดือด, วังวนของยาเสพติด และมักจะลงเอยด้วยเอชไอวี ใน Halston ก็มีอะไรพิเศษเป็นของตัวเอง อย่างที่เราพูดเสมอ ต่อให้เรื่องราวมันซ้ำซากเพียงใด แต่รายละเอียดนั้นไม่มีทางเหมือนกัน ชอบความทะเยอทะยานของ Halston มาก แล้วทั้งๆ ที่ตัวเค้านั้นร้ายแสนร้าย แต่เราก็เกลียดเค้าไม่ลง ที่น่าทึ่งก็คือ ตัวซีรี่ส์ก็ไม่ได้พยายามทำให้ Halston เป็นที่รักด้วยการบิลด์ปมในใจหรืออะไรมากมาย นอกจากการฉายให้เห็นความอ่อนแอและความเป็นมนุษย์ในตัวเค้าอยู่เสมอเท่านั้นเอง