• @TOM NEWS
  • Dec 2022

เก็บตกบรรยากาศและความประทับใจ ไทยแลนด์ ไพรด์ เฟสติวัล 2022

By : Ruta
เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ในปีนี้ เมื่อกลุ่มพันธมิตรที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) ในประเทศไทย ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงาน ไทยแลนด์ ไพรด์ เฟสติวัล 2022 เป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 25 - 27 พฤศจิกายน 2565 ที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด เอกภาพในความหลากหลาย (Unity and Diversity) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันในสังคม อีกทั้งยังเพื่อสนับสนุนในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศให้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นต่อต้านการตีตราและการเลือกในประเทศและกลุ่มที่มีความหลากหลายอื่นให้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นต่อต้านการตีตราและการเลือกปฏิบัติ

โดยงานไทยแลนด์ ไพรด์ เฟสติวัล ได้ขยายแนวคิดเรื่อง สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง นอกเหนือจากกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ไปยังกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชายขอบอื่นๆ ตามหลักคำปฏิญาณขององค์การสหประชาชาติที่จะ "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ซึ่งกำหนดไว้ในวาระ 2030 เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คำว่า "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ในที่นี้หมายถึง การรวมตัวกันทางสังคม ซึ่งนำไปสู่การสร้างการมองเห็นและการมีส่วนร่วมของกลุ่มเปราะบางและชายขอบ ดังนั้น ทางผู้จัดและผู้ร่วมจัดงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงจับมือกันเพื่อทำให้ ไทยแลนด์ ไพรด์ เฟสติวัล ไม่เหมือนงานไพรด์อื่นๆ ที่เรารู้จักมาก่อน



ไฮไลต์สำคัญของเทศกาลอยู่ที่วันสุดท้ายของงาน เริ่มจากขบวนพาเหรดจากแยกนราธิวาสราชนครินทร์ ไปจนถึงสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คนที่ต่างตั้งใจมาเพื่อเฉลิมฉลองงานไพด์ พร้อมกับช่วยสร้างความตระหนักรู้ในความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันในหมู่สาธารณชน ซึ่งในปีนี้ที่มีผู้เข้าร่วมที่สำคัญ อย่างเช่น ตัวแทนจากสถานทูต ในประเทศไทย กว่า 15 ประเทศ ประกอบไปด้วย แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ สเปน ออสเตรีย เดนมาร์ก ลักเซมเบิร์ก เยอรมนี สวีเดน นอร์เวย์ ฝรั่งเศส เบลเยียม และสหภาพยุโรป รวมทั้งสิ้น 75 คน ที่มาร่วมเดินขบวนภายใต้แคมเปญของสถานทูตเอง ที่ชื่อว่า “รัก คือ รัก จากเพื่อนนานาชาติที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ” นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ จากนานาชาติ รวมไปถึงกลุ่มผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ผู้ค้าบริการทางเพศ ผู้พิการ และเครือข่ายชุมชนอื่นๆ ร่วมกับพันธมิตร ทั้งภาครัฐ และเอกชน ตบเท้าเข้ามาร่วมโบกธงสีรุ้งในขบวนพาเหรดด้วยเช่นกัน แม้ว่าปีนี้เส้นทางที่เดินขบวนจะเป็นระยะสั้น แต่นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการรับรู้ถึงงานไพรด์ และการมีตัวตนของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ประชากรกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มชายขอบได้อย่างชัดเจน



อีกหนึ่งไฮไลต์ที่สร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างมาก คืองานเทศกาลหลัก ที่จัดในวันเดียวกัน ณ ลานหน้าจามจุรี สแควร์ ในงานเปิดเป็นสาธารณะ ที่มีทั้งเวทีสำหรับการแสดง บูธจากเครือข่าย ร้านค้าขายของและเครื่องดื่ม นิทรรศการ “Body Positivity” โดยมูลนิธิแอ็พคอม และกิจกรรมให้ร่วมสนุกอื่นๆ ซึ่งตลอดทั้งวัน มีผู้เข้างานร่วมกว่า 1,000 คน ในส่วนของการแสดงบนเวทีต่างๆ นั้นได้ถูกคัดเลือกมาเป็นอย่างดี เพื่อแสดงถึงความหลายหลายของทุกกลุ่มเป้าหมาย ที่ไม่เจาะจงเฉพาะกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น ยกตัวอย่างการแสดงในงาน เช่น มีการแสดงวาไรตี้โดยกลุ่มผู้ที่มีอาการดาวน์ซินโดรมฮีโร่ ไทยแลนด์ และเครือข่ายดนตรีและศิลปะคนพิการ มีการแสดงแดร็กโชว์ โดย ดาวฟ้า มีโชว์พิเศษจากหนุ่มๆ โดย ร้าน Moonlight จากชุมชนสีลม มีมินิคอนเสิร์ตจากวงน้องใหม่ Z22 (จากค่ายเพลงอจินไตย เอ็นเตอร์เทนเมนท์) และซิลวี่ (จากค่ายเพลงวอร์นเนอร์ มิวสิค) รวมถึงมีการอภิปรายในหัวข้อต่างๆ เช่น “ผู้สูงอายุ” “คนจนในเมือง” “ผู้ใช้ยา” “ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี” “ความรักของผู้หญิงในสื่อบันเทิง” รวมถึง “การผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ในประเทศไทย” ฯลฯ

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความสนุกสนานและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งในปีหน้า กับ ไทยแลนด์ ไพรด์ เฟสติวัล 2023