• @TOM NEWS
  • Nov-Dec 2022

HERO Awards 2022 ฮีโร่ตัวจริงแห่งปี ที่ทำงานอุทิศตนเพื่อชาว LGBTQ+ ในเอเชียแปซิฟิก

By : Ruta
มูลนิธิแอ็พคอม (APCOM Foundation) จัดงานมอบรางวัลฮีโร่ อวอร์ด 2022 (HERO Awards 2022) ขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ในวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ณ สถานฑูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด เอกภาพในความหลากหลาย “Unity and Diversity” งานนี้ถือเป็นงานที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเปิดโอกาสให้ชุมชนที่ความหลากหลายทางเพศจากนานาชาติ องค์กรไม่แสวงหาประโยชน์ (NGO) สถานทูต ภาครัฐและเอกชน มารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลอง ฮีโร่แห่งปีที่อุทิศตนเพื่อชุมชนเครือข่ายของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

งานมอบรางวัลฮีโร่ อวอร์ด เป็นงานมอบรางวัลที่จัดขึ้นทุกๆ ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อเชิดชูเกียรติและเชิดชูผลงานที่โดดเด่นของคนทำงานในประเด็นต่อต้านเชื้อเอชไอวี ผลักดันสิทธิความเสมอภาคในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในงานจะมีการระดมทุนเพื่อให้กับมูลนิธิแอ็พคอม ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ และเป็นผู้นำในประเด็นการต่อสู้กับปัญหาเอชไอวี พร้อมทั้งเสริมสร้างสุขภาวะและสิทธิของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วทั้งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งงานมอบรางวัลนี้ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาคธุรกิจ องค์กรชุมชน และหน่วยงานด้านการทูตมากมาย 

โดยผู้ได้รับรางวัลมีดังต่อไปนี้

1. รางวัลสาขาพันธมิตรธุรกิจดีเด่น (Business Ally) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Foodpanda จากประเทศไทย บริษัทที่เป็นเหมือนบ้านสำหรับพนักงานทุกคน โดยไม่สนเรื่องความแตกต่างทางเพศ อีกทั้งยังเป็นที่ทำงาน ที่พนักงานทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่

2. รางวัลสาขาพันธมิตรชุมชนดีเด่น (Community Ally) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Tebeio Tamton จากประเทศคิริบาส ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร Boutokaan Inaomataia ao Mauriia Binabinaine Association (BIMBA)

3. รางวัลสาขา “ฮีโร่” ชุมชนดีเด่น (Community Hero supported by ILGA Asia): ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Rosanna Flamer-Caldera จากประเทศศรีลังกา ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารองค์กร EQUAL GROUND ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีมายาวนานที่สุด และมีความหลากหลายอย่างแท้จริง ในการต่อสู้เพื่อให้สิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรอบสิทธิมนุษยชน เกิดขึ้นจริงในประเทศศรีลังกา

Rosanna Flamer-Caldera จากประเทศศรีลังกา ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารองค์กร EQUAL GROUND

4. รางวัลสาขาองค์กรชุมชนดีเด่น (Community Organisation) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Blue Sky Society Company Limited จากประเทศเวียดนาม องค์กรที่เปรียบเสมือน "บ้าน" สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศเวียดนาม ที่ให้บริการที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการการรักษา แต่ไม่กล้าลงทะเบียนในโครงการการรักษาทางสาธารณสุข เนื่องจากกลัวข้อมูลจะเปิดเผยสู่สาธารณะได้

5. รางวัลสาขา “ฮีโร่” โควิด-19 ดีเด่น (Covid-19 Hero) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Association of People Living with HIV/AIDS (APL+) จากประเทศลาว ระหว่างที่มีล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 องค์กร APL+ ได้รวบรวมข้อมูลสถิติต่าง ๆ จากกลุ่มประชากรหลักที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อเอชไอวี (Key Populations) เพื่อระบุปัญหาต่าง ๆ ที่พวกเขาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกับวางแผนในการรับมือช่วยเหลือประชากรกลุ่มเหล่านี้

6. รางวัลสาขาสุขภาพและสุขภาวะดีเด่น  (Health and Wellbeing) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Dr Wong Chen Seong จากประเทศสิงคโปร์ แพทย์ที่ปรึกษาที่ร่วมมือกับสมาชิกขององค์กรชุมชนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อก่อตั้งองค์กรเครือข่ายของชุมชนที่สำคัญขึ้น โดยมีจุดประสงค์ในการช่วยฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในภาคส่วนต่าง ๆ ให้สามารถสื่อสารและให้บริการผู้ป่วยและลูกค้าที่เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ

7. รางวัลสาขา “ฮีโร่” ด้านเอชไอวีดีเด่น (HIV Hero supported by APN+) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Yasir Ali Khan จากประเทศปากีสถาน บุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงเอชไอวี ในฐานะนักเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ที่รวบรวมกลุ่มคนเพื่อสนับสนุนกลุ่มประชากรหลักที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อเอชไอวี (Key Populations) ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีความเชี่ยวชาญด้านการลดอันตรายในปากีสถานอีกด้วย

8. รางวัลสาขาความยุติธรรมทางสังคมดีเด่น (Social Justice) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Nada Chaiyajit จากประเทศไทย ที่ปรึกษาในการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน ที่ชนะคดีความเรื่องเครื่องแบบการแต่งกายตามเพศสภาพ และช่วยสร้างแบบอย่างสำหรับ หลักกฎหมายเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกในประเทศไทย

Nada Chaiyajit จากประเทศไทย ที่ปรึกษาในการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน ที่ชนะคดีความเรื่องเครื่องแบบการแต่งกายตามเพศสภาพ

9. รางวัลสาขา “ฮีโร่” คนข้ามเพศดีเด่น (Transgender Hero supported by APTN) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Rully Mallay จากประเทศอินโดนีเซีย อาสาสมัครที่ชุมชน Transpuan ในเมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ที่ช่วยจัดระเบียบชุมชน เสริมสร้างศักยภาพของผู้บริหารองค์กร และพร้อมทั้งดำเนินการสร้างเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจโดยเพิ่มความยืดหยุ่นของชุมชนจากความเปราะบางต่างๆ

Rully Mallay จากประเทศอินโดนีเซีย อาสาสมัครที่ชุมชน Transpuan ในเมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

10. รางวัลสาขาคนรุ่นใหม่กับความสำเร็จดีเด่น (Young Achiever) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Jeremy Tan จากประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเยาวชนคนหนึ่ง ที่เป็นผู้สนับสนุนในการเสริมสร้างองค์กรด้านสุขภาพในมาเลเซียให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้มีการบูรณาการรูปแบบการดูแลสุขภาพทั่วไป กับการเข้าบริการสุขภาพด้านเอชไอวีไปด้วย เช่น การทดสอบ การให้คำปรึกษา และการส่งต่อการรักษา เป็นต้น

11. รางวัลสาขา ชีพอนันดา คาน เพื่อเชิดชูความสำเร็จยอดเยี่ยม (“Shivananda Khan Award” for Extraordinary Achievement) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Senator Risa Hontiveros จากประเทศฟิลิปปินส์ วุฒิสมาชิกผู้สนับสนุนด้านสุขภาพและสิทธิสตรี ที่เป็นทั้งนักเคลื่อนไหวและผู้สนับสนุนกลุ่มคนชั้นล่าง เธอเป็นวุฒิสมาชิกหญิงสังคมนิยมคนแรกของฟิลิปปินส์ อีกทั้งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและได้รับการยกย่องจากการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของในการส่งเสริมสาธารณสุข สิทธิของผู้หญิงและกลุ่มคนชายขอบอื่น ๆ รวมถึงชุมชนที่มีความหลากหลายทางเพศ

“ผู้ที่ได้รับรางวัลฮีโร่ อวอร์ดของเราต่างได้บอกเล่าถึงเรื่องราวอันทรงพลังของการไม่ยอมแพ้ในอุปสรรคใด ๆ ด้วยการสร้างสังคมที่ครอบคลุม เท่าเทียม และยุติธรรมมากขึ้น แม้จะมีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 งานต่าง ๆ ที่พวกเขาทำก็ประสบผลสำเร็จได้อย่างยอดเยี่ยมมาก งานมอบรางวัลนี้จึงเป็นเหมือนเวทีที่ช่วยเน้นย้ำความพยายามของพวกเขานั้นเอง” คุณมิดไนท์ พูนเกษตรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิแอ็พคอม กล่าว

พิธีมอบรางวัลฮีโร่ อวอร์ดนี้ ถือเป็นเวทีที่ช่วยเชิดชูผู้ให้การสนับสนุนและเป็นพันธมิตรที่โดดเด่นในการอุทิศตนเพื่อกลุ่มเครือข่ายผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี จากทั่วเอเชียและแปซิฟิก อีกทั้งยังเป็นเวทีเพื่อแสดงผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจที่พวกเขาได้ทำเพื่อกลุ่มเครือข่ายผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

วันนี้ คุณก็สามารถเป็นฮีโร่ได้เช่นกัน ด้วยการสนับสนุนกองทุนฉุกเฉินมูลนิธิแอ็พคอม #CoronaAPCOMpassion COVID-19 Emergency Fund เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศระดับรากหญ้า ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโควิด-19 ในเอเชียแปซิฟิก อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://www.apcom.org/apcom-staffs-donate-salaries-creates-coronaapcompassion/