• @TOM NEWS
  • Nov 2022

I'm Not at Home in My Own Home บ้านในความหมายของเพนกวิน พริษฐ์

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
I'm Not at Home in My Own Home เป็นผลงานละครเวทีที่สร้างสรรค์ขึ้นโดย ปฏิพล อัษวมหาพงษ์, ปัถวี เทพไกรวัล และ ธนพนธ์ อัคควทัญญู ในนาม MSN Theatre และอยู่ในโปรแกรมการแสดงของเทศกาลละครกรุงเทพ 2022 จัดแสดงเพียง 2 รอบ ระหว่างวันที่ 12 – 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และ “ชีวิตผมก็เหมือนหนัง” นักเขียนประจำของเราก็ขอเก็บบรรยากาศและความรู้สึกหลังรับชมมาฝากกันเช่นเคย

คิดว่าคงประกาศอย่างเป็นทางการได้แล้วว่า เราเป็นแฟนของ 3 สมาชิก แห่ง MSN Theatre ไม่ว่าจะเป็น มิสโอ๊ต - ปฏิพล อัษวมหาพงษ์ จาก MISS THEATRE, เฟิร์ส - ธนพนธ์ อัคควทัญญู จาก SPLASHING THEATRE และ ออม - ปัถวี เทพไกรวัล จาก NAKORNRATH THEATRE COMPANY คือตอนที่พวกเค้าทำงานเดี่ยวๆ ของตัวเอง เราก็รักมากแล้ว พอพวกเรามารวมตัวทำงานด้วยกันในฐานะ MSN Theatre เราก็ยิ่งรัก จนถามถึงบ่อยๆ ว่าเมื่อไหร่ MSN Theatre จะมีงานออกมาให้ดูอีก เพราะฉะนั้น ตอนที่ประกาศว่า MSN Theatre จะมีผลงานชิ้นใหม่ในเทศกาลละครกรุงเทพ 2022 ใจเราก็กดจองบัตรล่วงหน้าไปแล้ว โดยไม่ได้รู้เลยว่าจะมีแขกรับเชิญพิเศษมาร่วมสร้างสรรค์ชิ้นงานนี้ด้วย ดังนั้น พอเห็นชื่อ “เพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์” วางอยู่คู่กับชื่อเรื่อง I'm Not at Home in My Own Home มันก็เลยมีความรู้สึกหลากหลายปะทะสังสรรค์กันอยู่ในใจ แล้วพอได้ดูจริงๆ ความรู้สึกหลากหลายนั้นก็ยังล่องลอยวนเวียนอยู่ไม่ได้จางหายไปไหน

ความรู้สึกแรกคือ อะไรๆ มันช่างดูเรียบง่ายจัง (และคาดเดาได้ง่ายจัง - คือแค่ชื่อเรื่องกับชื่อซับเจ็กต์มันก็พอจะรู้ไปล่วงหน้าแล้วว่าจะได้เจอกับอะไร) การเชื้อเชิญให้เรานั่งลงกับพื้น แล้วจดจ้องดูเพนกวินพูดถึง “บ้าน” ในมิติต่างๆ ทั้งบ้านในกรุงเทพฯ (ที่เค้าไม่รู้สึกว่าเป็นบ้านที่แท้จริง), บ้านที่ลำปาง (ที่เค้ามีความผูกพันและรู้สึกเป็นตัวของตัวเองได้มากกว่า), บ้านที่เช่าเพื่อพักอาศัยและทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ และบ้านในความหมายที่กว้างใหญ่กว่านั้น ล้วนถูกบอกเล่าอย่างซื่อตรงและเรียบง่าย การออกแบบให้บทสนทนา (หรือการสัมภาษณ์) นั้นเกิดขึ้นในระหว่างการแต่งหน้าแต่งตา-แต่งเนื้อแต่งตัวก็ไม่ได้เป็นเทคนิคมหัศจรรย์อะไร แต่! พอเรามานั่งทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการแสดง I'm Not at Home in My Own Home ทั้งหมด เรากลับพบว่า ในความเรียบง่ายเหล่านั้น มันผ่านกระบวนการคิดและสร้างสรรค์ทำให้เกิดความเรียบง่ายนั้นขึ้นต่างหาก การพูดคุยกันระหว่างแต่งหน้ามันดูผ่อนคลายและสื่อสารได้เป็นธรรมชาติมากกว่าการนั่งสัมภาษณ์จริงจังมากไม่ใช่เหรอ, แล้วการปล่อยให้เพนกวินเล่าเรื่องราวของตัวเองไปเรื่อยๆ คั่นด้วยการโยนคำถามเข้าไปอย่างเป็นธรรมชาติ สลับกับการเล่นมุกตลก มันก็ทำให้เรามองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวนักเคลื่อนไหวฯ ได้อย่างใกล้ชิดที่สุด จดจ่อกับเรื่องเล่าของเค้าได้มากที่สุดนี่นา หรือแม้แต่การที่ให้ผู้ชมนั่งลงกับพื้นตามสบาย มันก็เป็นความเรียบง่ายที่น่าจะคิดกันมาแล้วด้วย

ความรู้สึกอบอุ่นที่ได้สัมผัสความเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ ในตัวเพนกวิน ปราศจากท่าทีก้าวร้าว เดือดดาล ดุดัน (แบบที่สื่อส่วนใหญ่ชอบนำเสนอหรือแปะป้ายให้กับเค้า) มันยิ่งทำให้ความรู้สึกเจ็บปวดกับประสบการณ์ชีวิตที่เค้าต้องพบเจอขยายใหญ่ชัดเจนขึ้น คำบอกเล่าเกี่ยวกับบ้านที่เค้าถูกจับโยนให้เข้าไปอยู่อาศัย ไร้ซึ่งอิสรภาพและข้าวของส่วนตัว และมีเพียงเวลาอันยาวนานให้ครอบครอง ยังติดค้างอยู่ในใจเรา หลายช่วงหลายตอนที่เรารู้สึกราวกับกำลังอ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม ภาษาที่เพนกวินใช้มันมีความเป็นวรรณกรรมสูงมาก ถ่ายทอดภาพให้เราห็น สร้างบรรยากาศให้เรารู้สึก และเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึก

แล้วพอท่าทีของ I'm Not at Home in My Own Home ไม่ได้ขยี้ความเจ็บปวดนั้นให้รุนแรง หรือเรียกร้องความเห็นใจใดๆ แต่พลิกกลับมาปลุกความฮึกเหิมด้วยความหวังความฝัน ไปจนถึงเย้ยหยันสิ่งที่เกิดขึ้น มันก็ยิ่งทำให้เราต้องพิจารณาอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองมากขึ้นไปอีก แต่สุดท้าย เรากลับหลงเหลือแค่คำถามกับตัวเองว่า แล้วบ้านในนิยามของเราเองล่ะคืออะไร เราพอใจกับบ้านหลังนี้ไหม แล้วเรายังมีหวังกับบ้านหลังใหญ่นี้อยู่ไหมนะ

อ่อ ถึงจะรู้สึกเกือบตลอดเรื่องว่ามันช่างเรียบง่าย ขัดกับชื่อ MSN Theatre ในผลงานชิ้นก่อนจังเลย แต่พอเพนกวินแต่งเนื้อแต่งตัวเสร็จแล้วลุกขึ้นรำกับเพลงปลุกใจ โอเค เฮี้ยนสมกับเป็น MSN Theatre แล้วล่ะ!

May be an image of 1 person and text that says "I'M NOT AT HOME IN MY OWN HOME MSN THEATRE ปฏิพล aooมหาพงษ์ PATHIPON (MISS OAT) ADSAVAMAHAPONG ปัถวี เทพไกรวัล PATHAVEE (AMADIVA) THEPKRAIWAN suwuร์ อัคควทัญญู THANAPHON (FIRST) ACCAWATANYU PNNE"