• @TOM NEWS
  • Jan 2022

10 อันดับหนังสือดีจริต LGBTQ ประจำปี 2022

By : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง

เป็นธรรมเนียมที่ทำติดต่อกันมาหลายปี กับการชวนเพจ ชีวิตผมก็เหมือนหนัง มาจัดอันดับหนังสือดีจริตโดนใจ LGBTQ+ ประจำปี ซึ่งก็ต้องอธิบายก่อนว่า หนังสือหลายๆ เล่มตีพิมพ์มาก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่ผู้เขียนได้หยิบยกมานำเสนอเป็นหนังสือดีประทับใจตามที่ตนได้อ่านในปีที่ผ่านมาเพียงเท่านั้น


หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา
อุรุดา โควินท์ เขียน

นวนิยายที่บันทึกชีวิตรักของสองนักเขียนผู้ต่างลุ่มหลงในกันและกัน และพยายามมุ่งมั่นสร้างผลงานชิ้นใหม่ในแบบของตัวเอง ท่ามกลางบรรยากาศฉ่ำฝนของบ้านกลางหุบเขา ฝ่ายหนึ่งคือ “กนกพงศ์ สงสมพันธุ์” เจ้าของตำแหน่งนักเขียนเพื่อชีวิตคนสุดท้าย พ่วงด้วยตำแหน่งนักเขียนซีไรต์ อีกฝ่ายคือ “อุรุดา โควินท์” หญิงสาวอดีตพนักงานธนาคารที่ลาออกมาเพื่อพยายามเป็นนักเขียน แต่อย่างที่หลายคนอาจจะรู้อยู่แล้ว กนกพงศ์เสียชีวิตไปอย่างกะทันหันด้วยอาการป่วยที่ลุกลามจากไข้หวัดใหญ่ ขณะที่กำลังเขียนงานชิ้นใหม่ และ “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” ก็คือนวนิยายที่อุรุดาเขียนขึ้นหลังจากเขาจากไปแล้วนับ 10 ปี ... ความทรงจำอันชัดเจนถึงขนาดที่เราสามารถสัมผัสได้ถึงไอเย็นฉ่ำในบรรยากาศ เสียงฝนโปรยปราย และกลิ่นหอมนานาชนิดรอบบ้านของทั้งคู่ คงบอกได้ว่าเวลาที่ผ่านไป ไม่ได้ทำให้เธอลืมเขาได้เลย


The Storied Life of A.J. Fikry หลากเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือ
แกเบรียล เซวิน เขียน | อภิญญา ธโนปจัย แปล

เป็นหนังสือที่อ่านไปยิ้มไป และไม่อยากให้มันจบเลยจริงๆ ด้วยเส้นเรื่องมหัศจรรย์ชีวิตที่ผสมผสานคละเคล้ากันระหว่างดราม่าเคล้าน้ำตา บรรยากาศพ่อแง่แม่งอนแบบโรแมนติก/คอมเมดี้ การค้นหาและเปิดเผยความลับบางอย่าง แทรกแซมด้วยมุกตลกหน้าตายของตัวเรื่อง/ตัวละคร และแน่นอนที่สุด ความที่มันเป็นหนังสือเพื่อคนรักหนังสือนี่แหละที่ทำให้เรารัก “The Storied Life of A.J. Fikry หลากเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือ” มาก


ลิงพาดกลอน
ปราบต์ เขียน

พบว่าการวางกลลวงเพื่อหลอกล่อผู้อ่านของ “ลิงพาดกลอน” นั้นฉลาดและกวนตีนมาก แล้วมันก็แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่หนักหน่วงและละเอียดละออของนักเขียนอย่าง ปราปต์ มากทีเดียว คือพอตัวเรื่องมันมาทีหลัง “กาหลมหรทึก” แล้วหยิบเอาตัวละครที่หลายๆ คนจิ้นมาสานต่อ มอบชีวิตใหม่ให้ ผูกเรื่องโดยใช้เกร็ดประวัติศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งของการไขปริศนาคคีฆาตกรรม มันก็ทำให้คนอ่านคาดการณ์ไปก่อนว่าจะต้องเจออะไรแบบที่คุ้นเคยจากนวนิยายเล่มก่อนๆ ของเค้า ทว่านั่นเป็นกลลวงหรือเหยื่อล่อให้เราสนใจพล็อตกับกิมมิกต่างหาก ไม้ตายจริงๆ มันอยู่ที่รายละเอียดที่ปราบต์ตลบหลังเราซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วลากเราไปไกลสู่ประเด็นใหม่ๆ แสนจริงจังแบบที่คาดไม่ถึง


Aristotle and Dante Discover the Secrets of the Universe ห้วงรักจักรวาลใจ
Benjamin Alire Saenz เขียน | ภัทร์ วิรุจน์ผล แปล

“อาริสโตเติล” ผู้ชอบแทนตัวเองว่า “อารี” มากกว่าชื่อเต็ม เป็นเด็กหนุ่มเม็กซิกันผู้แปลกแยก ไร้เพื่อน กลับได้สานสัมพันธ์กับ “ดันเต” เด็กหนุ่มอารมณ์ดี ยิ้มง่าย ร่าเริง ด้วยจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่ดันเตเสนอตัวสอนว่ายน้ำให้อารีที่สระว่ายน้ำใกล้ๆ บ้านแค่นั้นเอง แล้วมิตรภาพของพวกเค้าก็ผลิบานไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้จักรวาลอันแสนยิ่งใหญ่ และตัวตนข้างในของพวกเค้าที่กว้างใหญ่และน่ามหัศจรรย์ไม่แพ้จักรวาลเลย


โบราณคดี ประวัติศาสตร์การขุดค้นอดีตกาลแห่งมวลมนุษย์ A Little History of Archaeology
Brian Fagan เขียน | พจนก กาญจนจันทร แปล

ถ้าจะว่ากันตามตรง เรื่องราวของโบราณคดีนั้นเอื้อให้บอกเล่าถ่ายทอดได้สนุกมากอยู่แล้ว ยิ่งกับโบราณคดียุคแรกๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องการผจญภัย ความมหัศจรรย์ของการได้พบเจออารยธรรมที่สาบสูญ ไปจนถึงมีนักโบราณคดีคนสำคัญมากมายให้หยิบยกมาเขียนเล่า แต่ Brian Fagan ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้กลมกล่อมทั้งความตื่นตาตื่นใจ สนุกสนาน และมีภาพการทำงานของนักโบราณคดีที่สมจริงสมจังในแบบที่หลายๆ คนคงคาดไม่ถึง


บางลวง
ปราบดา หยุ่น เขียน

อ่านไปได้ครึ่งเล่มก็ต้องพลิกกลับมาดูปีที่ ปราบดา หยุ่น เขียนหนังสือเล่มนี้ เพราะมันชวนให้คิดถึงคดีฆาตกรรมเด็กหญิงบ้านกกกอกมาก ซึ่งปรากฏว่า “บางลวง” เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2561 แล้ว อันที่จริง 5 เรื่องสั้นอันเกิดขึ้นในบางลวงนี้ ไม่ได้พูดถึงคดีฆาตกรรมตรงๆ หรอก แต่มันเป็นหลายเรื่องลึกลับดำมืดที่ผู้คนในเมืองเล็กๆ แห่งนี้เลือกจะหลงลืมราวกับมันไม่เคยเกิดขึ้น แล้วในฉากหน้าของเมืองอันเงียบสงบ ผู้คนใช้ชีวิตกันเรียบๆ ง่ายๆ อุดมไปด้วยพื้นที่ธรรมชาติบริสุทธิ์ ก็มีความทรงจำบางอย่างถูกกลบฝังเอาไว้


ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือ และเรื่องสั้นอื่นๆ
โอ๊ต มณเฑียร เขียน

มีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะและหนังสือของ “โอ๊ต มณเฑียร” ที่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อ 2 ปีก่อน ก็เลยได้อ่านเรื่องสั้น “ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือ” มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่การอ่านเรื่องสั้นเดิมในรูปลักษณ์ใหม่ บรรยากาศใหม่ กับเวลาที่เปลี่ยนไป มันก็ทำให้เรารู้สึกแตกต่างจากเดิมได้มากมาย ยิ่งเมื่อพอมันมาอยู่รวมกับเรื่องสั้นอื่นๆ ที่ว่าด้วยเรื่องคนรักหนังสือ ก็ยิ่งทำให้มวลอารมณ์บางอย่างพิเศษมากขึ้นไปอีก ใครจะไปคิดว่าหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ว่าด้วยหนังสือจะเซ็กซี่เร่าร้อน ลึกลับ ขี้เล่น ยียวนกวนบาทา และละมุนละไมได้ถึงเพียงนี้


De Profundis ที่ใดมีความเศร้า
Oscar Wilde เขียน | รติพร ชัยปิยะพร แปล

จดหมายฉบับยาวนี้ถูกเขียนขึ้นในระหว่างที่ออสการ์ ไวลด์ ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเรดดิ้งในช่วงเวลาท้ายๆ ของการรับโทษ 2 ปี จากข้อหากระทำลามกอนาจาร (Gross Indecency) เพราะในยุคนั้น การเป็น “รักร่วมเพศ” (อยากจะใช้คำว่า คนรักเพศเดียวกันนะ แต่ใช้คำว่า “รักร่วมเพศ” ที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBTQ เกลียด เพื่อสะท้อนให้เห็นความเลวทรามที่ถูกแปะป้ายตีตรวนให้พวกเรา) ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ถึงแม้ว่าคดีความส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะเป็นคดีธรรมดาๆ ที่ไม่ได้มีใครสนใจนัก ทว่ามันตรงกันข้ามกับกรณีของ ออสการ์ ไวลด์ ที่เป็นเซเลบริตี้คนดังในแวดวงสังคม และมาพร้อมข่าวฉาวโฉ่ จากสัมพันธ์ที่เขามีต่อลอร์ดอัลเฟรด ดักลาส จนในที่สุดมันก็ทำลายชื่อเสียงของเค้าย่อยยับปนปี้ และพาเค้ามาลงเอยที่คุกเช่นนี้


คดีฆาตกรรมบนเนินฮิบาริงะโอกะ
มินะโตะ คะนะเอะ เขียน | พลอยทับทิม ทับทิมทอง แปล

เมื่ออยู่ๆ ก็เกิดคดีฆาตกรรมในครอบครัวที่ดูภายนอกเหมือนปกติสุขดีทุกอย่าง (ภรรยาพลั้งมือใช้วัตถุตีศีรษะสามีจนเสียชีวิต ในขณะที่ลูกๆ ไม่อยู่ในบ้าน) ครอบครัวบ้านใกล้เรือนเคียงจึงพลอยระส่ำระส่ายตามไปด้วย พลางคิดสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แล้วครอบครัวของเราเองล่ะ ปกติสุขหรือจวนเจียนจะระเบิดตามไปเหมือนกัน


Carol (The Price of Salt)
Patricia Highsmith เขียน | วิลาส วศินสังวร แปล

คู่ควรกับการเป็นหนังสือเล่มสำคัญของประวัติศาสตร์วรรณกรรม LGBTQ+ จริงๆ! นี่คือนวนิยายหญิงรักหญิงที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1952 ยุคที่คนรักเพศเดียวกันยังถูกต่อต้านจากสังคม เป็นเรื่องผิดบาป ฉาวโฉ่ น่าละอาย และชาว LGBTQ+ หลายคนต้องหลบซ่อนตัวตนจากสังคม หรือไม่ก็ถูกฉีกเนื้อเถือหนังด้วยศีลธรรมอันดี ยิ่งเมื่อมันเป็นหนังสือที่บอกกับชาว LGBTQ+ ทุกคนว่า สิ่งที่พวกเค้าเป็นอยู่มันโอเค ถึงจะต้องแลกกับอะไรอีกมากมาย หรือมีราคาที่ต้องจ่ายให้กับสังคม แต่มันก็มีความหวังอยู่ที่ปลายอุโมงค์อันมืดมิดนะ นี่ล่ะที่ทำให้เรายกย่องหนังสือเล่มนี้